ฤา จีน...จะเป็นต้นเหตุวิกฤตรอบใหม่?

ฤา จีน...จะเป็นต้นเหตุวิกฤตรอบใหม่?

คุณผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีว่า เป็นระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษมาแล้ว ที่จีนได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์โลก โดยการทำให้ประเทศ

มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งและได้พัฒนาแซงหน้ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปเกือบทุกราย จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551-2552 จีนก็ยังได้ออกแพ็คเกจกระตุ้นศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 13% ของจีดีพีของจีน) และทำให้จีนสามารถฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนั้นไปได้ นอกจากนั้นจีนยังกลับมาผงาดหลังวิกฤตด้วยอัตราการเจิรญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 10%  สิ่งที่ผ่านมาเหล่านี้ได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนงงงวยถึงความปาฎิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของจีน โดยได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน...รัฐบาลเป็นผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว

ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกสูงถึง 1.4 พันล้านคน แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวกลับอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐเท่านั้น จีนสามารถประกาศตัวเลขจีดีพีได้ภายในระยะเวลาเพียง 14 วันนับจากสิ้นไตรมาส แต่ตัวเลขที่ประกาศออกมานั้นจะออกโดยทางการ และไม่มีหน่วยงานใดมาพิสูจน์หรือยืนยันว่าตัวเลขที่ออกมานั้นถูกต้อง

ต่างกับจีนโดยสิ้นเชิง ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะได้รับการทบทวน 2 ครั้ง โดยในบางครั้งก็มีการแก้ไขตัวเลขหลังจากที่ออกไปแล้ว 90 วัน อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือก็คือ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมักจะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีน หรือไม่ก็พลาดเป้าไปเพียงเล็กน้อยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงตัวเลขที่พลาดเป้าหรือผิดไปจากที่คาดการณ์ไปมาก มักจะเกิดเกือบทุกประเทศทั่วโลก แต่เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับจีนเลย

สอง ความไม่สอดคล้องของข้อมูลที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน

เหตุการณ์ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนที่เผยแพร่ออกมาไม่สอดคล้องกัน มักจะได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ หนึ่งในรายงานที่น่าสนใจเป็นของ นิค บัทเลอร์ แห่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปีนี้ โดยบัทเลอร์กล่าวถึงตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของจีนออกมาที่ 6.9% แต่พอลงไปดูในรายละเอียดกลับพบว่า การปริมาณการใช้ไฟฟ้าของจีนกลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ตัวเลขทั้งสองตัวนี้จึงไม่มีความสอดคล้องกันเลย และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้จะทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

บัทเลอร์ยังได้หาข้อมูลลึกลงไปกว่านั้นอีกโดยการเช็คปริมาณสินค้าโภคภัณฑ์จากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อาฟริกา และลาตินอเมริกาที่ส่งออกไปที่จีน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของจีน พบว่าตัวเลขปริมาณสินค้าเหล่านี้กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงส่อให้เห็นว่า ถ้าจีนนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ลดลง ก็คงจะผลิตสินค้าขายไปทั่วโลกได้น้อยลง และตัวเลขจีดีพีก็ไม่น่าจะขยายตัวได้ดี

สาม รัฐบาลไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งได้ออกไปแล้วเมื่อปี 2552 มันได้หมดไปนานแล้ว ขณะที่ในเวลานี้เองก็ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่เหมือนกับญี่ป่นหรือกลุ่มยูโรโซน ออกมาจากทางการจีนเลย ดังนั้นเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ เมื่อรัฐบาลไม่ได้ออกมากระตุ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ภาระจึงไปตกอยู่กับภาคเอกชนของจีนเท่านั้น

หันไปดูภาคเอกชนของจีนก็จะพบว่า ในบรรดาอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เหล็ก ปูนซิเมนต์ สินแร่ที่หายาก พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ นอกจากจะไม่ขยายตัวแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอีกด้วย โดยคาดกันว่าอุตสาหกรรมหลักๆของจีนในเวลานี้น่าจะใช้กำลังการผลิตเพียง 3 ใน 4 ของกำลังการผลิตเท่านั้น ประกอบกับตัวเลขค้าส่งก็ลดลงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิด “สภาพเงินฝืด” ครั้งใหญ่ในจีน และทำให้ผู้คนไม่กล้าใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า

สี่ หนี้ก้อนประวัติศาสตร์ของ...ภาคเอกชนจีน

คุณผู้อ่านหลายท่านคงรู้ดีว่า จีนเป็นประเทศที่มี “เมืองผี” (Ghost Cities) มากที่สุดในโลก โดยการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์มาเป็นสิบๆปี ก็ทำให้มีการสร้างบ้านสร้างเมืองครั้งใหญ่ขึ้นในจีน โดยคาดการณ์กันว่า ปัจจุบันนี้จีนน่าจะมีบ้านเก่าและบ้านสร้างใหม่รวมแล้วสามารถรองรับผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยได้ถึง 3.4 พันล้านคน ในขณะที่จีนมีจำนวนประชากรทั้งประเทศเพียง 1.4 พันล้านคน ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่เกินกว่าความต้องการที่จะรองรับผู้อยู่อาศัยได้สูงถึง 2 พันล้านคน

ที่อยู่อาศัยที่ล้นเกินความต้องการเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นต้นเหตุของหนี้เสียก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีน สิ้นไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา หนี้สินของประเทศจีนทั้งประเทศไต่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 237% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ระดับหนี้ที่สูงมากนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆอยู่ในขณะนี้ ก็ทำให้นึกถึงศาสตราจารย์ทางกลยุทธ์ชื่อก้องโลก ไมเคิล พอร์ตเตอร์ (Michael Porter) ที่เคยพูดถึงผู้นำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไว้ว่า “Good leaders need a positive agenda, not just an agenda of dealing with crisis.”  แปลตามความได้ว่า ผู้นำที่ดีจะต้องพูดเรื่องที่เป็นบวกให้ได้ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องการแก้ปัญหาวิกฤติ