จับตาศึก‘ทีวีดิจิทัล-เรทติ้ง’

จับตาศึก‘ทีวีดิจิทัล-เรทติ้ง’

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ขณะนี้

  มีหลายประเด็น ที่เกิดเป็น คู่ขัดแย้ง

ทั้งฝั่ง กสทช.และผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตรวม 15 ช่อง จาก 22 ช่อง ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น หลังการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อเดือน ธ.ค.2556 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องระหว่าง ทีวีดิจิทัลและ กสทช. ในศาลปกครองแล้ว 11 คดี

ในมุมของผู้รับใบอนุญาต“ทีวีดิจิทัล” เห็นว่า กสทช.ยังทำหน้าที่ในฐานะคู่สัญญารัฐกับเอกชนไม่ครบถ้วนตามประกาศฯ ก่อนประมูล เรื่องหลักๆ คือ การเปลี่ยนผ่านการรับชมจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล โครงการแจกคูปอง แผนการประชาสัมพันธ์ช้ากว่ากำหนด ส่งผลต่อแผนลงทุนธุรกิจของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ข้างฝ่าย กสทช. ยืนยันเช่นกันว่า การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเด็นสำคัญ ยังเดินหน้าตามระยะเวลาในประกาศฯ โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล (Mux) ที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 90% ในปีนี้

จากการรายงานผลประกอบการปี 2558 ที่สะท้อนการประกอบกิจการ“ปีแรก”แบบเต็มปี ต่างจากผลประกอบการปี 2557 ที่เป็นตัวเลขเฉพาะครึ่งปีหลัง นับจากทีวีดิจิทัล เริ่มต้นออกอากาศในเดือน เม.ย.2557 ตามรายงานของสำนักงาน กสทช. เปิดเผยรายได้รวมทีวีดิจิทัล ปี 2558 มีมูลค่ารวม 11,335 ล้านบาท

โดย พ.อ.นที ศกุลรัตน์ รองประธาน กสทช.ให้มุมมองว่าผลประกอบกิจการทีวีดิจิทัลปี 2558 เป็นข้อมูลสำคัญสะท้อนธุรกิจทีวีดิจิทัลปีแรก สิ่งที่น่าสนใจคือมีช่องดิจิทัลบางราย มีผลประกอบกิจการค่อนข้างดี มี 3 ช่องรายได้มากกว่า 1,500 ล้านบาท เป็น“รายเดิม” 2 ช่อง คือช่อง 33 และช่อง 35 อีกช่องคือรายใหม่ “เวิร์คพอยท์ทีวี” นอกจากนี้มีช่องใหม่ที่มีรายได้ปีแรกกว่า 500 ล้านบาท 4 ราย, รายได้ปีแรก 400-500 ล้านบาท 3 ราย และ 2 รายที่มีรายได้ปีแรก 300-400 ล้านบาท

ข้อมูลแนวโน้มรายได้ทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีช่องใหม่ที่ทำรายได้โดดเด่น เป็นสัญญาณให้เห็นว่า“ทีวีดิจิทัล” ที่คอนเทนท์แตกต่าง มีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นยังมีโอกาส “ไปต่อ”

แม้ทั้ง กสทช.และทีวีดิจิทัล(กลุ่มที่ฟ้องคดี) ยังมีความเห็นแตกต่างกัน!! ในการกำกับดูแลกระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล แต่ในสมรภูมิการแข่งขันธุรกิจที่ ทุกราย ต้องแข่งขันฟาดฟันในช่วงเวลาที่ยังไม่มี “ทางออก” ที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย คือการเดินหน้าพัฒนาคอนเทนท์ ช่วงชิงความนิยมผู้ชมทีวี หรือ เรทติ้ง ทีวี

ในฟากของการจัดทำระบบเรทติ้งทีวี!! เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) และทีวีดิจิทัล (ส่วนใหญ) ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบวัดเรทติ้งทีวีใหม่รูปแบบ "มัสติ "สกรีน"เพื่อสะท้อนการรับชมทีวีจากหลากหลาย “จอ”ในยุคนี้ กระทั่งเกิดขั้นตอนเปิดประมูลงานจัดทำระบบวัดเรทติ้งทีวี โดย กันตาร์ มีเดีย จากอังกฤษ เป็นผู้คว้างานด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี โดย MAAT ส่งไม้ต่อให้ สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ที่มี สุภาพ คลี่ขจาย นั่งเป็นนายก สมาคมฯ สานงานต่อตามสัญญาจัดจ้างในปีนี้ โดยมี MAAT ยุคที่ ไตรลุจน์ นวะมะรัตน เป็นนายก สมาคมฯ นั่งเป็นพี่เลี้ยงการจัดทำระบบเรทติ้งทีวีใหม่ในปีนี้

แม้ยังมีผู้สนับสนุนฝั่ง“ทีวีดิจิทัล”ไม่ครบ!! ตามที่ได้ลงชื่อไว้เมื่อปลายปีก่อน แต่ทั้ง MRDA และ MAAT ต่างประสานเสียงเดินหน้าจัดทำระบบวัดเรทติ้งทีวีใหม่ในปีนี้ โดย กันตาร์ มีเดีย จะเริ่มกระบวนการจัดทำระบบวิจัยเรทติ้งในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อสำรวจเรทติ้งรูปแบบ“มัลติ สกรีน” โดยจะเริ่มรายงานผลในปี 2560

ขณะที่ผู้วัดเรทติ้งทีวีไทยมากว่า 30 ปี อย่าง นีลเส็น ประเทศไทย ชูจุดขายเป็น “ผู้ตรวจวัดอิสระ” จัดทำระบบวัดเรทติ้งทีวี ไม่หวั่นการขับเคลื่อนระบบวัดเรทติ้งทีวีใหม่ ทั้งยังเดินหน้าเพิ่มกลุ่มตัวอย่างเป็น 2,400 ครัวเรือนในปีนี้ พร้อมประกาศพัฒนาระบบวัดเรทติ้งต่อไปตามแผนเดิม เพิ่มกลุ่มตัวอย่างเป็น 3,000 ครัวเรือนภายในปี 2560

พร้อมเปิดตัวบริการวัดเรทติ้งรายการทีวีออนไลน์ (Digital Content Ratings) หรือเรทติ้ง “มัลติ สกรีน” ครอบคลุมรายการบนออนไลน์และทีวี โดยใช้มาตรฐานตรวจวัดในสกุล(currency) เดียวกันกับทีวี ในปีนี้

เรียกว่าอุตสาหกรรมทีวีปีนี้ ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งฝั่งผู้กำกับดูแลและผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้จัดทำระบบวัดเรทติ้ง องค์ประกอบสำคัญของการอยู่รอดทีวีดิจิทัลในยุคนี้