รุกค้า 'ซีแอลเอ็มวี' สางปัญหาเร่งโต

รุกค้า 'ซีแอลเอ็มวี' สางปัญหาเร่งโต

หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2559 

10 ประเทศอาเซียน กลายเป็นตลาดแห่งโอกาส จากประชากรเกือบ 600 ล้านคน จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สวนทางภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม 

นั่นเพราะ เศรษฐกิจที่เติบโต ย่อมมาพร้อมกับ ความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภค คล้ายกับประเทศไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดย ทุนข้ามชาติ ดาหน้าเข้าไปปักหลักลงทุน ไม่เว้น ทุนไทยรายใหญ่ ที่เข้าไปลงทุนมาก่อนหน้านี้

เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ไปพร้อมกับการ ขยายฐานทุนเจาะตลาดมากขึ้น อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เครือสหพัฒน์ กลุ่มเซ็นทรัล ฯลฯ ที่จะเห็นความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการ “ซื้อและควบรวมกิจการ และ ผนึกพันธมิตร ติดสปีดการเติบโต ก้าวกระโดด

ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2558 ระบุถึงมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีว่า ไทย “เกินดุลการค้า”ประเทศเหล่านี้ทุกประเทศ กว่า 4.21 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างกัน ยังพบว่า ในปี 2558  ไทยมีมูลค่าการค้ากับซีแอลเอ็มวีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท  (1,082,881 ล้านบาท)  

ในจำนวนนี้เป็น มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม สูงสุด 4.39 แสนล้านบาท

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนปีนี้ให้มีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท

ทว่า ที่ผ่านมาการค้าระหว่างกันยังมี “ปัญหาและอุปสรรค” ที่ต้องเร่งสะสาง เช่นกัน  

ตามข้อเสนอของ 3 องค์กรแกนนำเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า เรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา ได้แก่ การขอขยายมูลค่าสินค้าอาเซียนนำติดตัว ที่เดินทางเข้าออกตามด่านการค้าชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จาก 200 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

การขอขยายเวลาทำการของด่านการค้าชายแดน 11 ด่าน ประกอบด้วย ด่านกัมพูชา 1 ด่านที่ช่องสะงำ, กับลาว 6 ด่าน เช่น หนองคาย , เชียงของ, มุกดาหาร, ช่องเม็ก , เชียงแสน , กับเมียนมาร์ 1 ด่านและ มาเลเซียอีก 3 ด่าน โดย การขยายเวลามีทั้งขยายไปเปิด 24 ชั่วโมง และ ปิดให้ดึกขึ้นเป็น 4 ทุ่ม - เที่ยงคืน และสุดท้ายคือ การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนด้านเมียนมาและกัมพูชา เพื่อเพิ่มรถขนส่ง และเที่ยวการขนส่งสินค้า ระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ในแง่ของ การลงทุน สิ่งที่รัฐพยายามผลักดันเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามจังหวัดแนวชายแดน ระยะแรก ได้แก่  ตาก ตราด สงขลา มุกดาหาร และสระแก้ว  ด้วยการใช้ ม.44 แก้ปัญหาการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ เพื่อแก้ไขข้อติดขัดด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

เชื่อว่า หากรัฐสางปัญหาที่เป็นอุปสรรคการค้า ไปพร้อมกับการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างจริงจังแล้ว 

ตลาด “ซีแอลเอ็มวี” จะเนื้อหอมมากขึ้น  

แม้ขนาดตลาดไม่ใหญ่มาก แต่กลับเต็มไปด้วยศักยภาพ ที่ไม่อาจมองข้าม..!!