จาก CSR สู่ SE

จาก CSR สู่ SE

ในการตลาด 3.0 มีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เพราะการตลาด 2.0 เราอาจจะถือได้ว่า ลูกค้าคือพระเจ้า (Consumer is king)

สรุปง่ายๆ คือ ผู้ผลิตสินค้าต้องเอาใจผู้บริโภค เพื่อสนองความต้องการ (Needs) และความอยากได้ (Wants) ของผู้บริโภค ทำให้ร้อยทั้งร้อยพยายามที่จะเข้าให้ถึงผู้บริโภคทั้งด้านความคิด (Mind) และจิตใจ (Heart) จึงทำให้กลายเป็นว่าแนวทางการตลาดจะเป็นยุคที่เราให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแนวการตลาดแบบ Consumer Centric หรือ Consumer Oriented อย่างที่เห็นกันแพร่หลายในปัจจุบัน

ดังนั้นการทำการตลาด ได้เล็งเห็นว่า กลุ่มเป้าหมาย เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับ สังคม หรือสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการ “ใส่ใจ”ที่จะดูแลสังคม หรือการคืนกำไรให้กับสังคม ในรูปแบบการตลาด ที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งมีเรื่องที่ลึกซึ้งและแบ่งเป็นอีกหลายระดับในการดำเนินงาน

โดยแนวคิดนี้ได้รับการตอบสนองจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นอย่างดี และเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกนำไปพัฒนาอย่างมากจนหลายๆองค์กรได้ดำเนินการ และวางแผนกันเป็นแม่บทเลยทีเดียว

พอมาถึงยุคนี้ ในการตลาด 3.0 ก็เป็นเรื่องราวที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการทำในสิ่งที่มากกว่าการ “ใส่ใจ” แต่กำลังจะ “ปลูกฝัง” ลงลึกไปกว่านั้น เรียกได้ว่าให้กลายเป็น “จิตวิญญาณ” ในการที่จะเลือกใช้สินค้าหรือบริการใดๆให้เป็นการเลือกที่สมบูรณ์แบบ ทั้งทางกายและใจ คือตอบสนองและเติมเต็มความปรารถนาของมนุษย์ (Human spirit fulfillment) 

ดังนั้นการตลาด 3.0 จึงพยายามที่จะหล่อหลอมและเกี่ยวพันกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

จึงเกิดกิจการที่เรียกว่า SE (Social Enterprise) หรือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งแตกต่างกับ CSR ตรงเป้าประสงค์ของกิจการ CSR นั้น เป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมดำเนินการโดยกิจการที่แสวงหากำไร ต่างจาก SE ก็ตรงที่ SE นั้น มีธุรกิจที่มีเป้าหมายไม่ได้แสวงหากำไร แต่มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาสังคม หรือเป็นวิถีทางหนึ่งในการแก้ปัญหาให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อตั้งกิจการ 

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ดูแลและให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม เช่น สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (Thai Social Enterprise Office) ซึ่งมีหน่วยงานที่มีกลุ่มพนักงานสร้างกิจการเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายโครงการสามารถสร้างสิ่งใหม่ให้กับสังคม โดยใช้องค์ประกอบในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี (New wave technology) ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และระบบอินเตอร์เน็ตราคาถูก ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการเชื่อมโยง (Connectivity) การโต้ตอบ (Interactivity) ทั้งในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพัฒนาอิสระ (Open Source) มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ข่าวสาร ความบันเทิง และรูปแบบการทำการตลาด ที่สามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภค (Consumer) ไปสู่รูปแบบใหม่ของการเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคในคนเดียวกัน (Prosumer)

จากจุดเริ่มของการพัฒนาการตลาด 2.0 สู่การตลาด 3.0 ที่มุ่งหวังให้ไปถึงความสมบูรณ์และการเติมเต็มคุณค่าความเป็นมนุษย์ จึงเป็นรูปแบบที่ผู้บริโภคมองหาเหล่าบริษัทที่มีกิจการที่ตอบสนองได้มากกว่ามูลค่าทางการเงิน แต่ยังให้ความสำคัญและปลูกฝังให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งตัวผู้บริโภค สังคมที่อาศัยอยู่ และยังขยาย วงกว้างไปสู่โลกทั้งใบ ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในทุกๆด้าน