เคลื่อนประเทศ สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

เคลื่อนประเทศ สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลง โครงสร้างประเทศไทย

 จากประเทศที่่พึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก สัดส่วน 70 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)  

มาเป็นการสร้าง ความแข็งแกร่ง จากภายใน ลด แรงปะทะ จากเศรษฐกิจโลก 

มุ่งไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เป็นหลังอิง ขับเคลื่อนภาคการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ

อย่างที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้ ใช้คำว่า ... 

ต้องเปลี่ยนประเทศไทย ไปสู่ยุคประเทศไทย 4.0 (ไทยแลนด์ 4.0)  

นั่นเพราะหากเศรษฐกิจไทย ยังคงพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกอยู่เช่นนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ประเทศผู้ส่งออกหลักเช่นไทย ย่อมหนีไม่พ้นปัญหาถาโถม   

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัด พิสูจน์แล้วจากตัวเลขส่งออกไทยที่ ติดลบ ต่อเนื่องในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) 

ทั้งนี้หนึ่งในรูปธรรมที่จะสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน คือ การดึงความร่วมมือจาก ภาคเอกชนรายใหญ่" ว่ากันด้วยยอดขายกว่าแสนล้านบาทต่อปี ให้นำความแข็งแกร่งด้าน "ฐานทุน" "ฐานเครือข่าย" และ "ประสบการณ์" มาต่อยอดความสำเร็จให้กับประเทศ

ในรูปของการระดมสมอง ภายใต้ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ที่ประกอบด้วย 12 คณะทำงานด้านต่างๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจฐานราก ,การวิจัยและพัฒนา , การปรับปรุงกฎหมาย , การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ,ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน,การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน, การส่งเสริมเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นต้น 

แบ่งแนวทางการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.การนำเสนอหัวข้อเกษตรสมัยใหม่และการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก 3.การพัฒนาคุณภาพคน และ 4.การปรับลดกฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อยกระดับความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing Business) ของไทย

โดยแต่ละคณะทำงาน จะมี หัวหน้าทีมเอกชน นั่งประกบกับ “หัวหน้าทีมภาครัฐ”

ระยะเวลาผ่านไปกว่า 4 เดือน การทำงานของแต่ละคณะทำงานแต่ละชุดคืบหน้า เป็นลำดับ

ล่าสุด วานนี้ (18 เม.ย.) คณะทำงานแต่ละชุด ได้ “นำเสนอ” แนวทางการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ในระยะสั้น (Quick Win) ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เปรียบเหมือนการ ส่งการบ้าน  เพื่อให้นายกฯไฟเขียวแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะนำไปสู่การ “ระดมทุน” ทั้งงบประมาณรัฐ รวมไปถึง การลงขัน ของภาคเอกชนด้วยกันเอง

ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว จะว่าไปแล้วแทบจะไม่เห็นภาพกระชับแน่นระหว่างรัฐกับเอกชน เท่าครั้งนี้ ซึ่งระดมบิ๊กเอกชนที่มีเครือข่ายการค้า และเครือข่ายสายสัมพันธ์ มาร่วมกันแก้ปัญหาประเทศในด้านต่างๆ

เดินหน้าแผนขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง 

แม้จะเป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องรอดอกผลความสำเร็จ

ทว่า ได้เริ่ม “ก้าวแรก” แล้ว !!

ความกังวลที่ตามมาคือ ความต่อเนื่อง ในการดำเนินการ 

โดยได้แต่หวังว่าเรื่องดีๆ เช่นนี้ จะไม่สะดุดลง จากตัวแปรการเมือง

ที่ต้องกลับมา นับ 1” กันใหม่ อยู่ร่ำไป