สัญญาณเตือนมาเลเซียสู่ไทยยุค New Normal

สัญญาณเตือนมาเลเซียสู่ไทยยุค New Normal

ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่มาเลเซียและไทยมีความคล้ายคลึงในด้านการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรม

ผ่านนโยบายส่งเสริมลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนและย้ายฐานผลิตจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ ทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและเครื่องจักร ขณะที่การส่งออกส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสินค้าในอุตสาหกรรมเดียวกับสินค้านำเข้าที่ได้รับการแปรรูป หรือประกอบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งไปยังประเทศผู้บริโภค

จากผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเกิดการขยายอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีของมาเลเซียยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ระดับสม่ำเสมอ (ยกเว้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2541) และผลักดันให้เศรษฐกิจเข้าใกล้ระดับของประเทศที่พัฒนาแล้วตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2563 เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อประชากรซึ่งแนวทางการพัฒนาของมาเลเซียเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่ให้เรียนรู้ถึงการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาประเทศในระยะยาว

แต่ปัญหาหลายประการในระบบเศรษฐกิจของมาเลเซียในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความกังวลของนักลงทุนต่างชาติที่เทขายพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเดือนกันยายน และการเปลี่ยนแปลงของเงินริงกิตซึ่งมีอัตราการอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค (ลดลง 19% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว) ส่งสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้น โดย ดร.Jayant Menon นักเศรษฐศาสตร์จาก Asian Development Bank (ADB) ได้สะท้อนความเห็นว่ามาเลเซียที่กำลังเข้าสู่ภาวะ Premature Deindustrialization ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่นำเสนอโดยศาสตราจารย์ Dani Rodrik จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเป็นภาวะของการลดสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศยังไม่พัฒนาพ้นระดับรายได้ปานกลาง จึงส่งผลให้สัดส่วนของมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศลดลง

ในขณะเดียวกันผลผลิตสาขาทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำมันดิบและก๊าซ) และสินค้าเกษตร (ปาล์มน้ำมันและยางพารา) กลับมีสัดส่วนสูงขึ้น และจากการพิจารณามูลค่าส่งออกรวมของมาเลเซียพบว่าอยู่ในแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในปี 2558 ลดลงถึง 14.6% เมื่อเทียบกับการส่งออกรวมในปี 2557

จากการวิเคราะห์ของ ดร.Jayant Menon ได้นำเสนอว่า เป็นเพราะมาเลเซียไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศให้สามารถเลื่อนสู่ระดับสูงขึ้นในห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่า (Value Chain) และจากปัจจัยด้านการลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับล่าสุดของมาเลเซียที่กำหนดทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและการส่งออกของมาเลเซียดังที่เห็นในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาระการคลัง ที่รัฐบาลมาเลเซียจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปี 2558 นั้นรัฐบาลมาเลเซียต้องขึ้นอัตราภาษีสินค้าบริโภคบางประเภทเพื่อเพิ่มรายได้ที่ขาดหายไปจากการตกต่ำต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว จึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับไทยที่ต้องเตรียมความพร้อม และเพื่อป้องกันการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากปัจจัยลบที่คล้ายกับกรณีมาเลเซีย จนส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาส่งออกเป็นหลัก อีกทั้งไทยยังจะต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอื่นๆ ในอนาคต ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการหดตัวของมูลค่าการค้าโลกนับตั้งแต่ปี 2551

และปัจจัยภายในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งส่งผลให้ประชากรในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 20- 60 ปี) มีปริมาณลดลงถึง 1.8 ล้านคนภายในปี 2569 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ปัญหาคุณภาพของคนทำงานและปัญหาโครงสร้างผลิตภาพแรงงานที่จบการศึกษาอาจไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

-------------------

ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์