การเมืองปีใหม่ ขอให้คิดใหม่

การเมืองปีใหม่ ขอให้คิดใหม่

จับตาดูให้ดี คาดว่าต้นปีหน้านี้ สิ่งที่จะมีการพูดถึงกันมากที่สุดก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

และแทบจะฟันธงได้เลยก็คือ การถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ จะอยู่บนพื้นฐานของการเมืองเก่า บริบทเก่า และโลกทัศน์เก่า แถมคนที่จะเข้ามาโต้แย้งถกเถียงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นนักการเมืองเก่า ที่ยังคงหวานหอมอยู่กับการเมืองแบบเก่า ที่ตัวเองคุ้นชินและได้ประโยชน์

เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันหาคำตอบที่ชัดเจนให้กับการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองที่ผ่านมา ความขัดแย้งแตกแยกที่มีอยู่จะมีทางออกอย่างไร การแก้ปมใหญ่ที่เป็นที่มาของความขัดแย้งแตกแยก คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ของเหล่าประดานักการเมืองจะทำอย่างไรให้ได้ผลที่สุด ตลอดจนการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ควรเป็นอย่างไร

อาจกลับไปถกเถียงกันแค่อยู่ใน วังวนของความขัดแย้งในอดีต การได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองสองขั้วขัดแย้ง การมีอคติต่อการยึดอำนาจของ คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) การสร้างความปั่นป่วนก่อกวน เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ความจริงแล้ว คนไทยต่างรู้ดีว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” นับ 10 ปีที่ผ่านมา เราสนุกกันพอหรือยังกับการยอมให้ประเทศชาติ ประชาชน เป็นเหมือนของเล่นของพวกนักการเมือง

ที่คิดจะต่อสู้กันด้วยการผูกขาดอำนาจการเป็นรัฐบาล ก็ทำเหมือนการเมืองเป็นธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจครอบครัวของตระกูลการเมืองไม่กี่ตระกูล มีการดึงดูดอดีตส.ส.เกรด A เข้าพรรคด้วยสิ่งแลกเปลี่ยนต่างๆนานา มีการควบรวมพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กเข้ามาเป็นพรรคตัวเอง มีการจัดตั้งสร้างฐานการเมืองในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในวงราชการ ด้วยอำนาจอิทธิพลทางทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้ ทำให้แทบจะนับที่นั่งส.ส.ล่วงหน้ากันเลยก็ว่าได้ ว่าจะเอากี่ที่นั่ง ขาดกี่ที่นั่ง จะเอาให้ท่วมท้นเลยหรือไม่ หรือเหลือเอาไว้สร้างความชอบธรรมให้พรรคพันธมิตรแค่ไหน พูดกันถึงขั้นนั้น และคนไทยก็นั่งดูตาปริบๆ

จึงไม่แปลก ที่คนไทยจำนวนมากมายมหาศาลจะออกมาแสดงพลังเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในช่วงก่อน ที่ “คสช.” จะยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

กลับมาที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แน่นอนว่า มีไฟต์บังคับอยู่พอสมควร อันเนื่องมาจากความต้องการแก้ปัญหาในอดีต ทั้งการมุ่งเน้นตรวจสอบการสู่การเมือง(เป็น ส.ส., ส.ว. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี) อย่างเข้มข้น การสร้างภูมิคุ้มกันความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น เหมือนที่ผ่านมา การสร้างกลไกให้เอื้อต่อการปฏิรูปประเทศในระยะยาว ซึ่งไฟต์บังคับเหล่านี้เอง จะทำให้ถูกมองและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ควรจะเอาประเทศมาทดลอง

แต่ถ้าฟังจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยืนยันว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาการเมืองในอดีต ยึดผลประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้งมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมสังคมไทย ทุกกลไก ไม่คิดว่าตรงไหนจะไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่อาจมีบางอย่างที่แตกต่างจากประเทศอื่นบ้างเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าอยู่บนพื้นฐานที่เราจะเริ่มต้นสร้างการเมืองใหม่ และการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นักการเมืองทั้งหลายจะต้องถกเถียงกันบนความรู้ใหม่ ที่มีทั้งข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ และการยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อหาข้อยุติร่วมกันให้ได้ และดีที่สุด มิใช่เอาชนะคะคาน ยืนกระต่ายขาเดียว ค้านหัวชนฝาอย่างที่คนบางกลุ่มตั้งป้อมเอาไว้แล้ว

ปีใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว ก็หวังว่าจะ คิดใหม่ ทำใหม่เหมือนสโลแกนที่พรรคการเมืองบางพรรคตั้งไว้ก็จะดีมิใช่น้อย