การจัดกองทัพรูปแบบใหม่

การจัดกองทัพรูปแบบใหม่

เข้าเทศกาลเฉลิมฉลองคริสมาสต์ ก็คงต้องพูดเรื่องฝรั่งมังค่ากันเสียหน่อย โดยผู้เขียนจะขอกล่าวถึง “กองทัพรูปแบบใหม่”

กองทัพรูปแบบใหม่ (The New Model Army หรือ “New Modelled” Army) คืออะไร? อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะกองทัพรูปแบบใหม่ที่ว่านี้ เกิดขึ้น 300 กว่าปีมาแล้ว นั่นคือ เกิดขึ้นที่อังกฤษใน ค.ศ.1645 อันเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังมีสงครามกลางเมือง สงครามกลางเมืองอังกฤษเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1642-1649 เป็นสงครามระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง สงครามครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐสภาที่ต้องการตีกรอบพระราชอำนาจ กับฝ่ายที่อยู่ข้างสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องการคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการตีความขอบเขตของพระราชอำนาจที่ต่างกันของแต่ละฝ่าย และระหว่างที่ทำสงครามกันอยู่ใน ค.ศ.1645 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกองทัพอันเป็นที่มาของ “กองทัพรูปแบบใหม่” หรือที่นักประวัติศาสตร์อังกฤษเรียกว่า “The New Model Army” นั่นเอง

การจัดตั้งกองทัพรูปแบบใหม่นี้ กระทำโดยฝ่ายรัฐสภา กองทัพรูปแบบใหม่แตกต่างจากกองทัพแบบเก่า ที่อังกฤษเคยมีก็ตรงที่มีความเป็น ทหารอาชีพมากขึ้น และสามารถไปปฏิบัติการได้ทุกพื้นที่ ด้วยแต่เดิมกองทัพของอังกฤษจะปฏิบัติการในลักษณะติดพื้นที่ หรือบริเวณที่ใกล้เคียงกับค่ายทหาร แต่กองทัพรูปแบบใหม่จะไม่ติดกับพื้นที่หรือเขตรับผิดชอบ ในกรณีที่ฝ่ายรัฐสภาทำสงครามกับฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง กองทัพรูปแบบใหม่ของสามารถออกปฏิบัติการนอกอังกฤษได้ นั่นคือ สามารถไปปฏิบัติในสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์ได้ด้วย และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า กองทัพรูปแบบใหม่มีความเป็น “ทหารอาชีพ” มากขึ้น นั่นคือ เป็นทหารประจำการเต็มเวลา ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่กำลังพลมีลักษณะของการถูกเกณฑ์มาเป็นครั้งเป็นคราว

ด้วยความตั้งใจของฝ่ายรัฐสภาที่สร้าง กองทัพรูปแบบใหม่ หรือถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กองทัพสมัยใหม่ รัฐสภาได้กำหนดห้ามเด็ดขาดไม่ให้นายทหารที่คุมกองกำลังใน “กองทัพรูปแบบใหม่” นี้ มีตำแหน่งในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาขุนนางก็ตาม ข้อห้ามดังกล่าวนี้เกิดจากการที่ฝ่ายรัฐสภามีวัตถุประสงค์ ที่จะแยกกองทัพออกจากฝักใฝ่ทางการเมือง หรือฝักใฝ่ทางศาสนาที่ดำรงอยู่ในฝ่ายรัฐสภา พูดง่ายๆ ก็คืออังกฤษมีความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง ที่มีฝักใฝ่ในรัฐสภา และฝ่ายรัฐสภาที่ต้องการลดทอนพระราชอำนาจของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง ต้องการกันกองทัพออกไป

ดังจะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะมีการประกาศทำสงครามกลางเมือง ฝ่ายรัฐสภาได้ยื่นข้อเรียกร้อง 19 ประการต่อพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ ข้อที่ 15 ที่ฝ่ายรัฐสภากำหนดว่า พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้บัญชาการของป้อมค่าย และปราสาทในราชอาณาจักรได้ แต่รายชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย

กำลังพลในกองทัพรูปแบบใหม่นี้ ส่วนหนึ่งมาจากทหารที่ผ่านการรบมาแล้วจำนวนหนึ่ง ที่มีความเชื่อทางศาสนาในแบบพิวริทัน (Puritan) อย่างเคร่งครัด และอีกส่วนหนึ่งมาจากทหารเกณฑ์ใหม่ที่มีแนวความเชื่อทางสังคมและศาสนาร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีทหารระดับล่างจำนวนมากเป็นพวกหัวรุนแรงที่โดดเด่นแตกต่างจากทหารอื่นๆ ในกองทัพรูปแบบใหม่นี้ด้วย แม้ว่านายทหารระดับสูงของกองทัพรูปแบบใหม่จะไม่ได้เห็นด้วยกับทัศนะทางการเมืองของทหารในบังคับบัญชา แต่ด้วยการที่กองทัพรูปแบบใหม่นี้ เป็นอิสระแยกขาดจากรัฐสภา ทำให้กองทัพรูปแบบใหม่มีความสมัครใจ ที่จะโค่นล้มอำนาจของทั้งฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง และฝ่ายรัฐสภาในที่สุด

พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อกองทัพมีความเป็นอิสระจากการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝักใฝ่ทางการเมืองใดก็ตาม กองทัพก็จะมีความเป็นอิสระและกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพเอง อันนำมาซึ่งการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ในอังกฤษในช่วงหลังสงครามกลางเมือง เพราะหลังจากที่กองทัพรูปแบบใหม่ร่วมกับฝ่ายรัฐสภาโค่นล้มอำนาจของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งได้สำเร็จใน ค.ศ.1649 แล้ว อำนาจทางการเมืองตกอยู่แก่ฝ่ายรัฐสภาได้ไม่นาน กองทัพรูปแบบใหม่ก็ยึดอำนาจจากรัฐสภาใน ค.ศ.1653 และสถาปนาระบอบการปกครองโดยผู้นำทหารขึ้น โดยในที่สุดแล้ว นายพลผู้บังคับบัญชาของกองทัพรูปแบบใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โอลิเวอร์ ครอมแวล ก็สามารถที่จะวางใจกับกองทัพรูปแบบใหม่ ที่มีการจัดวางระเบียบวินัยภายในองค์กรที่เคร่งครัดเข้มแข็ง ที่ธำรงรักษาการปกครองที่คงไว้ ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ได้ระหว่าง ค.ศ.1653-1658

แม้ว่า ในช่วงต้น กองทัพรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจ ที่จะแยกกองทัพออกจากการเมืองในสภา เพื่อต่อสู้กับฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง แต่ท้ายที่สุด เมื่อกองทัพมีความเป็นอิสระ และมีความเข้มแข็ง ในขณะที่ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายล่มสลายอ่อนแอ สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ กองทัพก็คืบคลานเข้ามาครองอำนาจทางการเมือง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบอบการปกครองใหม่ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานอะไรได้ และเมื่อโอลิเวอร์ ครอมแวล เสียชีวิตลงใน ค.ศ.1658 เกิดปัญหาว่าใครจะมาสืบสานเป็นผู้นำที่ชอบธรรมคนต่อไปของอังกฤษ

ในที่สุดรัฐสภาและกองทัพ ก็ต้องกราบบังคมทูลเชิญพระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งกลับมาขึ้นครองราชบัลลังก์ใน ค.ศ.1660 และก็ถือเป็นการสิ้นสุดของกองทัพรูปแบบใหม่ของอังกฤษด้วย