CEO พูด คิด และทำอะไร

CEO พูด คิด และทำอะไร

การขับเคลื่อนองค์กร รู้กันดีว่า ล้วนมาจากนโยบายเป็นตัวนำ นโยบายเกิดจากการวางแผนของฝ่ายจัดการ

เสนอผ่านและอนุมัติ โดยกรรมการของบริษัทนั้นๆ

หน้าที่ของคณะกรรมการ หรือบอร์ด หลักๆ คือ ช่วยกลั่นกรอง ช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยท้วงติง ช่วยตรวจสอบ และอาจช่วยรับผิดชอบ กรณีเมื่อเกิดความผิดพลาด เพราะตามข้อกฎหมาย คณะกรรมการรับค่าตอบแทนจากบริษัท โดยเป็นไปตามข้อกฎหมายว่า ค่าตอบแทนนั้นต้องได้รับอนุมัติจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ดังนั้นงาน หน้าที่ และความรับผิดชอบ ย่อมเดินมาพร้อมกัน

การแบ่งคุณสมบัติของกรรมการ มีการมองลึกลงรายละเอียดลงไปอีกว่า กรรมการตามสิทธิของการถือหุ้น คือกรรมการ ส่วนกรรมการอิสระเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายบุคคล กรณีที่เป็นบริษัทมหาชน เรื่องของกรรมการ ดิฉันขอยกยอดไปก่อน เพราะเคยคุยกับคุณๆ ผู้อ่านไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกมากประเด็น ที่อยากชวนคุย

วันนี้ อยากชวนคุยเรื่องของเบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหาร คือ “CEO“ คนสำคัญที่ต้องลงมือบริหารงาน ตามแผน ตามเป้าหมาย ให้บรรลุ KPI เขาหรือเธอ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือโลโก้ขององค์กร ดังนั้นการพูด การให้ข่าว ล้วนเป็นประเด็น แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัว ความชอบส่วนตัว ยังเป็นบริบทสะท้อนสไตล์การทำงานได้เลย จริงไหม

CEO บางคน ชอบความเร็ว ขับรถสปอต ขับเครื่องบิน ชอบรถโบราณ ชอบเล่นกอล์ฟ ชอบท่องเที่ยว ชอบกินอาหารไทย ชอบถือศีล กินผัก ชอบงานสังคม ชอบสันโดษ รักครอบครัว ล้วนสะท้อนสไตล์แผนงานของบริษัทนั้นๆ ได้เช่นกัน

การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การขยับหมากแต่ละจุด ล้วนมีความหมาย เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่อาจไหลไปข้างหนึ่งข้างใดได้อย่างง่ายๆ ฟรีๆ หรือ “คนสร้าง” ให้เหตุการณ์ขยับเป้าเข้าหาตัวเอง ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

การแจ้งข่าวของบริษัทมหาชนจึงย่อมมีความหมาย กับราคา และบ่งชี้ทิศทางอนาคตของกิจการได้ เรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแนวทางไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้บริหารควรให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวในประเด็นใดได้บ้าง และไม่ควรพูดในเรื่องใดบ้าง

ธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี ดิฉันหยิบปฏิทิน มาทบทวนงาน สายตาจึงเหลือบไปเห็นข้อมูล จากปฏิทิน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ มอบให้มาเมื่อต้นปี อีกด้านของวัน เดือนปี มีข้อมูล ที่เป็นสาระสำคัญที่ทันยุคสมัย เป๊ะ….

ข้อมูลแนวทางในการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร พบว่า มีข้อห้ามบางข้อ เช่น ข้อมูลที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจคาดไม่ได้ หรือไม่เป็นไปตามภาวะห้วงเวลานั้นๆ ข้อมูลรายได้ ข้อมูลเรื่องกำไร พูดไม่ได้เด็ดขาด ยกเว้นเป็นการพูดถึงในระยะไกล มองหรือคาดคะเน ไม่เห็นตัวเลข

ที่เป็น ตัวแดงเตือนภัย หนักๆ เห็นจะเป็นเรื่อง ข่าวรั่ว ข่าวลือ ในระยะเวลาอันสั้น ที่มีผลต่อการตัดสินใจ เรื่องราคา

ตลาดหลักทรัพย์มีข้อกำหนดเชิงแนะนำไว้ว่า บริษัทมหาชนในตลาดหุ้นควรกำหนดตัวบุคคลว่า ใครกันล่ะ ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเปิดเผยข้อมูล และจะต้องเปิดเผยผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะเปิดเผยต่อกลุ่มอื่นๆ ข่าวที่จะเปิดเผยนั้น ความเป็นทั้งสองฝั่ง คือ ข่าวบวก-ข่าวลบ ด้วยเชื่อว่าผู้ลงทุนจะเป็นผู้ตัดสินใจได้เอง

แล้วการเปิดเผยล่ะ ควรจะเปิดเผยเรื่องใด ด้วยระยะเวลาช้าเร็วอย่างไร เขามีเกณฑ์ไว้แล้วล่ะ ระบุว่า เป็นแนวทางการเปิดเผยข้อมูล ตามเหตุการณ์ของบริษัท เช่น

ต้องแจ้งตลาดฯ ทันทีอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนเวลาทำการเปิดซื้อขาย หรือต้องทันทีหลังเวลาปิดการซื้อขายของวันนั้นๆ ล้วนเป็นข้อมูลขั้นตรีทูต อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การได้มาหรือสูญเสียการค้า กรรมการผู้จัดการลาออก กรรมการตรวจสอบลาออกทั้งคณะ การผิดชำระหนี้

ต้องแจ้งภายใน 3 วันทำการ เช่น การย้ายที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ การเปลี่ยนแปลงกรรมการ และผู้สอบบัญชี

ต้องแจ้งภายใน 14 วัน เช่น รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น

เห็นแล้วใช่ไหมว่า คำพูดของผู้นำองค์กรย่อมมีผลกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น นอกเหนือจากเป็นสัญญาประชาคม เป็น นายตัวเอง และยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์บนราคาที่วิ่งขึ้น-ลงของบริษัทด้วยเช่นกัน

CEO ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด เขามีหลักสูตรให้ไปอบรมกันมากมาย ส่วนกรณีที่รู้ทั้งรู้ แต่ยังทำ โดยมีผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง นี่ซิ น่าคิด อย่างเรื่องอินไซต์หุ้น ผู้ลงทุน จะวางใจให้นั่งบริหารต่อได้อย่างไรกัน …..

ส่งท้ายปี…. ขอสดุดี ทุกความดี ที่มีคุณูปการต่อตลาดหุ้นไทย….สวัสดีปีใหม่ 2559 ค่ะ