10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ของ SME พันธุ์ใหม่

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ของ SME พันธุ์ใหม่

ในรอบปีที่ผ่านมาผมได้เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง InnovationและDigital Economy ผ่านบทความนี้หลายครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นTrendที่สำคัญในปี 59

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่อง "10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต" ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Innovation และ Digital Economy เป็นส่วนใหญ่ และจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศในอนาคต

โดยได้มีการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) มีการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

2) อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ผลิตระบบอิเลคทรอนิกส์ ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เพื่อการสวมใส่

3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ

4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) นำเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงทีมีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ การวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) การเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหาร การวิจัยและผลิตโภชนาเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร
ทั้ง 5 อุตสาหกรรมประเทศไทยมีฐานที่แข็งแกร่ง แต่ต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ

2. การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) เป็นอุตสาหกรรมที่โลกมีความต้องการสูง เชื่อว่าจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์

2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) จำนวนเครื่องบินที่มากขึ้นเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น เรามีสนามบินอู่ตะเภาและสนามบินอื่นที่ใช้ประโยชน์ ในการฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ และเรายังมีจุดแข็งในการเป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ทันสมัย

3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) เรามีฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงควรพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกำหนดมาตรฐานชีวภาพเข้ากับการค้า เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก เป็นการก้าวเข้าสู่ Bioeconomy

4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ทั่วโลกมีความต้องการสูงมาก และเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีพ เช่น E-commerce / Digital Content /Data Center / Cloud Computing

5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เรามีหมอและพยาบาลที่เก่งมาก มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย ในอนาคตจะต้องเพิ่มการลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ การรักษาโรคทางไกลผ่านอินเตอร์เนต/สมาร์ทโฟน
ในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลจะมีมาตรการเสริมเพื่อให้การสนับสนุน เช่น แผนการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน มาตรการทางการเงินโดยการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสากรรม” ให้เงินกู้ยืมหรือชดเชยดอกเบี้ย มาตรการทางการคลัง เช่น การลดภาษี มาตรการอำนวยความสะดวกเสริม

ท่านผู้ประกอบการจึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม โดยหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ คือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีโครงการพัฒนาคุณภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs, โครงการ Web portal

สำหรับ SMEs, โครงการเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของท่านผู้ประกอบการในการพัฒนาตัวเองให้เป็น SMEs พันธุ์ใหม่ที่จิ๋วแต่แจ๋ว

อย่าพลาดนะครับ