จุดอ่อนของอาเบะโนมิกส์

จุดอ่อนของอาเบะโนมิกส์

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นที่เกิดมานานแล้วนั้น ดูเหมือนจะยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจนนัก

รัฐบาลของ นาย ชินโซะ อาเบะ เอง ก็ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปลายปี ค.ศ.2012 ซึ่งประกอบด้วยนโยบายการคลังที่เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล และนโยบายการเงินแบบคิวอี ที่เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีเงินเฟ้อที่ 2%

นอกจากนี้ ก็มีมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Abenomics’อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของนโยบายนี้ก็คือ การที่รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็ไม่ฟื้นตัวตามความคาดหวัง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะมาหาคำตอบกันว่า อะไรคือสาเหตุของความล้มเหลวที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นบทเรียนสำหรับกรณีของประเทศไทยต่อไป

สาเหตุสำคัญประการแรกที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้ผลนั้น น่าจะมาจากความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจเอกชนและภาคธนาคาร เกี่ยวกับความไม่แน่นอนในอนาคตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น งานศึกษาของ Brahim Guizani (2015) เรื่อง “Japanese Regulation Policy and Credit Crunch: Evidence from the Ultra-Expansionary Policy Period” ได้นำเสนอว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศญี่ปุ่นในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1999-2005 นั้น มีต้นตอมาจากการที่ระบบธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ (credit crunch) เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจญี่ปุ่น แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% ก็ตาม ซึ่งก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 โดยมีการใช้มาตรการคิวอี (QE) เพื่อเพิ่มปริมาณเงินจำนวนมาก

การศึกษาดังกล่าวได้ผลสรุปว่า สาเหตุที่ธนาคารเอกชนไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเกิดตามมา จนก่อให้เกิดภาวะเงินฝืดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละสาเหตุกับกรณีของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการสำรองเงินทุนตาม Basel Capital Accord ซึ่งหมายความว่า  Abenomics ยังไม่สามารถทำให้นักลงทุนเอกชนหยุดกลัวความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ที่อาจตามมาจากการปล่อยเงินกู้ได้ และภาคธุรกิจเอกชนก็เล็งเห็นว่า การที่รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากนี้ กลับจะกลายเป็นปัญหาที่กดดันให้รัฐบาลต้องเพิ่มภาษีในอนาคต เพื่อมาใช้คืนหนี้อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ภาคธุรกิจพึงจะประสงค์กัน

สาเหตุสำคัญประการที่สอง มาจากความไม่แน่ใจของเอกชนเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่น ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยตรง ตัวอย่างคือ อุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างรวดเร็ว ก็คืออุตสาหกรรมไอทีและซอฟต์แวร์ ซึ่งเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้วนี่เอง ที่ญี่ปุ่นยังเป็นคู่แข่งสำคัญอันดับต้นๆ ของอเมริกา ทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่ก็ได้ถูกทิ้งห่างไปอย่างรวดเร็ว งานศึกษาของ Robert E. Cole and Yoshifumi Nakata (2015) เรื่อง “The Japanese Software Industry: What went Wrong and What We Can Learn from it?” ได้พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไอทีของญี่ปุ่น ไม่สามารถแข่งขันกับของอเมริกันนั้น เป็นเพราะปัจจัยทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นหลัก

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ของสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่น มีความล้าหลังและไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ของความรู้ใหม่ทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับสากล เพราะตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึง 2007 ที่คณะทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่น แม้จะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานของอเมริกันคือ IEEE-CS (Institute of Electrical and Electronics Engineer-Computer Science) และ ACM (Association of Computing Machinery) ก็ตาม แต่โดยเฉลี่ยแล้ว หลักสูตรที่ใช้จะมีความล่าช้ากว่าที่อื่นอย่างน้อยประมาณ 6 ปี ทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่ไม่ทันสมัย เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไอที ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องปัจจัยเชิงวัฒนธรรมในระบบมหาวิทยาลัย ที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยม ส่งผลให้อาจารย์และนักวิจัยไม่เปิดกว้างที่จะเรียนรู้ และวิจัยเรื่องที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เท่าที่ควร เหมือนในประเทศอื่นๆ ส่งผลให้บุคลากรเหล่านี้ไม่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิก หรือก่อตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ความรู้จากสาขานี้ เหมือนเช่นในต่างประเทศ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว บทเรียนสำคัญที่ได้จากกรณีของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหรืออาเบะโนมิกส์นี้ ก็คือ การให้น้ำหนักความสำคัญที่เพียงพอกับการลงทุน พัฒนาปรับปรุงความรู้ความสามารถใหม่ที่จำเป็น เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ มากกว่าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายการเงินและการคลังที่มากเกินไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเลย ตราบใดที่ภาคเอกชนเอง ก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพที่แท้จริงที่จะแข่งขันได้ในอนาคต