จุดจบของ จิฮัด จอห์น กับคืนศุกร์ 13 ณ กรุงปารีส

จุดจบของ จิฮัด จอห์น กับคืนศุกร์ 13 ณ กรุงปารีส

หลายคนคงจำการสังหารโหดของกลุ่มไอซิส ที่มักจะปรากฏภาพตัวประกันในชุดนักโทษสีส้ม นั่งคุกเข่ารับฟังโทษทัณฑ์

สาเหตุของการปลิดชีพอันโหดเหี้ยมด้วยมีดเพียงหนึ่งเล่มที่เฉือนคอพวกเขา เพื่อแลกกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองของกลุ่ม ซึ่งต้องการจะท้าทายชาติตะวันตก

ชายหนุ่มวัย 27 ปี ซึ่งถูกขนานนามในโลกออนไลน์ว่า จิฮัด จอห์น (Jihadi John) ผู้นำการสังหารโหดที่เผยแพร่ภาพผ่านคลิปวิดีโอ จะพร่ำถึงสาเหตุและความจำเป็นของการฆ่า ด้วยภาษาอังกฤษในแบบฉบับเดียวกับเจ้าของภาษา ชี้ดาบในมือมาทางหน้าจอ ท้าทายผู้คนทั่วโลก พร้อมอ้างความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของกลุ่มตน

จิฮัด จอห์น หรือนาย โมฮัมเหม็ด เอ็มวาซี เป็นคนเชื้อสายคูเวต ที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในอังกฤษตั้งแต่เขาอายุได้ 6 ขวบ จบการศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ ณ มหาวิทยาลัย Westminster กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเข้าร่วมกับกลุ่มไอซิส โดยนามแฝงของ ‘John’ ได้ชื่อมาจาก John Lenon จากวงเดอะบีทเทิล ซึ่งหลังจากเข้าร่วมกลุ่มไอซิส จิฮัด จอห์น ได้ปรากฏตัวในคลิปวิดิโอในยูทูปเทปเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2014 ในพิธีกรรมการสังหาร นักข่าวชาวอเมริกันที่ชื่อ นายเจมส์ โฟลีย์

การสังหารตัวประกันโดย จิฮัด จอห์น ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนนับแต่นั้นมา และมาสิ้นสุดครั้งสุดท้าย เมื่อได้สังหารตัวประกันชาวญี่ปุ่น 2 คนเมื่อเดือนมกราคมปีนี้

สิริรวมตัวประกันที่ถูกฆ่าโดยนาย จิฮัด จอห์น อย่างเปิดเผยทั้งสิ้น 7คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักข่าว และคนที่ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ทุกครั้งก่อนการลงมือสังหาร จิฮัด จอห์น จะท้าทายผู้นำประเทศของบุคคลที่เป็นตัวประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ด้วยพิธีกรรมที่แฝงไปด้วยกระบวนการทางจิตวิทยา ความรุนแรง และการสื่อสารเชิงสัญญะที่ท้าทายมากมาย ผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์ ซึ่งคนทั่วโลกต่างเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย

นับเป็นกระบวนการสร้างอำนาจการต่อรองของกลุ่มไอซิส ที่โดดเด่นและรับรู้ได้ถึงภัยคุกคามที่ชัดเจนกว่ากลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก

ล่าสุดในเวลาเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐอเมริกาได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่เมืองรักกา ประเทศซีเรีย โดยมีเป้าหมายมุ่งไปยังการสังหารนาย จิฮัด จอห์น ด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ใจกลางเมือง ใกล้ตึกบัญชาการสูงสุดของกลุ่มไอซิส

ทางการสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันการเสียชีวิตของนาย จิฮัด จอห์น พร้อมการประกาศกร้าวอย่างเป็นทางการของผู้นำอังกฤษ นายเดวิด แคมเมอรอน ถึงชัยชนะในการปราบปรามมือสังหารของกลุ่มไอซิส ในเช้าวันศุกร์ที่ 13 ก่อนหายนะในกรุงปารีสเพียงไม่ถึงสิบชั่วโมง

ปฏิบัติการตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างประเทศมหาอำนาจกับกลุ่มไอซิสนับเป็นสมรภูมิที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาย และเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ กรุงปารีสในคืน ศุกร์ 13 ที่ผ่านมา คงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญอันเกิดจากการตัดสินใจชั่ววูบของกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น หากแต่เป็นแผนปฏิบัติการที่มีการวางแผนอย่างยาวนาน และพร้อมลงมืออย่างเลือดเย็น เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะสุกงอม

ระเบิดพลีชีพและการยิงกราดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก ดูจะเป็นภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและยากที่จะป้องกันได้ แม้หน่วยงานความมั่นคงจะมีข้อมูลและเครื่องมือที่แหลมคมเพียงใดก็ตาม

การต่อกรกับการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิส ที่ขยายเครือข่ายในโลกออนไลน์ผ่านยูทูป และทวิตเตอร์ พร้อมกับติดต่อกับเยาวชนที่หลงทางในโลกสังคมเครือข่ายทั่วโลก นับเป็นกลยุทธ์ในการแสวงหาแนวร่วมและบุคลากรสำหรับกลุ่มก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี

โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักข่าวของประเทศอังกฤษได้รายงานการหนีออกนอกประเทศของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมจำนวน 3 คน ที่สมัครใจเข้าร่วมกลุ่มไอซิส ซึ่งเป็นผลมากจากการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มดังกล่าว

การตัดสินใจแบบช็อคโลกของนักเรียนหญิงดังกล่าว นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการหาแนวร่วมในโลกออนไลน์ของกลุ่มก่อการร้าย โดยจากการรายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ ระบุว่า ปัจจุบันมีคนสัญชาติอังกฤษกว่า 700 คน เคยเดินทางไปซีเรีย โดยส่วนใหญ่เพื่อเข้าเป็นส่วนร่วมของกลุ่มไอซิส และเกือบครึ่งหนึ่งได้กลับมาฝังและแฝงตัวอยู่ในอังกฤษ ซึ่งนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนปกติสามัญชน หากแต่อาจไม่มีจิตวิญญาณของพลเมืองที่จะจงรักภักดีต่อประเทศที่อาศัยอยู่แต่อย่างใด

จากงานวิจัยของฮิลเลล นอสเส็ก ว่าด้วยบทบาทของสื่อมวลชนกับความขัดแย้งทางการเมือง ได้ระบุให้เห็นถึงสื่อมวลชน ทั้งในฐานะของการเล่นบทบาทในเชิงที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว และใช้ความชอบธรรมต่อขบวนการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของกลุ่มดังกล่าว ในขณะเดียวกัน สื่อบางประเภทและบางสำนักก็เล่นบทบาทในทางกลับกัน โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐมหาอำนาจในการต่อกรกับผู้ก่อการร้าย เพื่อสร้างบริบทอันชอบธรรมในการเข้าล้อมปราบของรัฐผ่านกระบวนการดราม่า ในอันที่จะสร้างอารมณ์ร่วมของคนในสังคมให้เข้าข้างการใช้ความรุนแรงกระชับพื้นที่กับกลุ่มก่อการร้ายอย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน

จากปรากฏการณ์ จิฮัด จอห์น ที่ใช้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่สื่อสารและโฆษณาชวนเชื่อ ต่อกรกับผู้นำมหาอำนาจ อย่าง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน และนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ อย่างออกหน้าออกตานั้น นับเป็นการก้าวล่วง ตัดข้ามเส้นสายการบังคับบัญชาของการสื่อสารแบบเดิมๆ ให้สลายไป

เด็กหนุ่มอย่าง จิฮัด จอห์น ที่ชี้ดาบท้าทายผู้นำโลกผ่านหน้าจอยูทูป คงเป็นเพียงกรณีต้นแบบ ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านกระบวนการโคลนนิ่งของกลุ่มไอซิส ที่ใช้โอกาสความล่มสลายทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการต่อยอดอำนาจของตนในบริบทโลกใหม่ ซึ่งได้พลิกพื้นที่กลางเมืองซีเรียที่เคยเป็นความหวังของประชาธิปไตยในปี 2012 ให้กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองในปี 2015

เมื่อจุดจบของ จิฮัด จอห์น มาบรรจบรวมกับจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมปารีส มันคือความล่มสลายของสันติภาพระดับโลก และคงมีเพียงปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังต้องเสี่ยงภัยกับหายนะของการก่อการร้ายที่นับวันจะมาใกล้ตัวเรามากขึ้น