มาตรา 44 'รักษาทุกโรค'

มาตรา 44 'รักษาทุกโรค'

หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งช่วยเหลือประชาชนฐานราก ผู้ประกอบการ

ขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง เหลือ 0.01% ของราคาประเมิน  

โดยมาตรการเหล่านี้เริ่มเห็นผลเป็น รูปธรรม อาทิ เงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ที่ส่งถึงมือประชาชนกว่า 2 ล้านราย วงเงินกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ใน 4.6 หมื่นชุมชน ครึ่งทาง ของวงเงินปล่อยกู้ที่ 6 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่มาตรการลดค่าโอนจดจำนอง มีผลวันแรกไปแล้วเมื่อ 29 ต.ค. 2558  พบว่าประชาชนแห่ไปโอนอสังหาฯ (มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท) แน่นสำนักงานที่ดินจังหวัด

ทว่า สิ่งที่รัฐบาลยัง เดินหน้า ไปไม่ถึงไหนคือการ ผลักดัน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) อาทิ รถไฟฟ้าสีต่างๆเชื่อมกรุงเทพฯและปริมณฑล รถไฟทางคู่ เนื่องจากติดปัญหาที่ขั้นตอนการดำเนินการมากมาย กว่าจะนำไปสู่การ “ตอกเสาเข็ม” โครงการ ที่ว่าด้วยมูลค่าการลงทุนระดับ “หมื่นล้าน” 

โดยหากสามารถเดินหน้าโครงการเหล่านี้ ได้ “ทันใจ” ย่อมจะส่งดีต่อการหมุนรอบของเงินลงทุน สู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจ ในยามที่ภาคเอกชน “ร้างรา” การลงทุนมาเป็นเวลานาน

ความอึดอัดขัดใจนี้  ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มมองหา ยารักษาทุกโรค มาช่วย ปลดล็อก  

ปัญหาอยู่ที่ไหน ปลดล็อกที่นั่น..! 

“มาตรา 44”  จึงถูกพูดถึงกันมากในระยะหลัง โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  ออกมาบอกว่ารัฐบาลพร้อมจะ "เปิดไฟเขียว ให้ใช้มาตรานี้เดินหน้าเมกะโปรเจค ไปจนถึงการระบุชัดจากกระทรวงคมนาคมถึงโครงการนำร่องนำร่องที่จะใช้มาตรการนี้  

ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสายสีชมพู (แคราย -มีนบุรี) ,สายสีเหลือง(ลาดพร้าว -สำโรง ),สายสีน้ำเงิน (เดินรถ)ส่วนต่อขยาย(หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) โครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางจิระ ,นครปฐม-หัวหิน และลพบุรี-ปากน้ำโพ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ (11 ก.ย.2558) “มาตรา44” ยังถูกนำมาใช้เพื่อแก้ใขปัญหา มาตรฐานการบิน ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน โดยมี ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ รวมถึงการใช้มาตรานี้เพื่อโยกย้ายปรับตำแหน่งข้าราชการ มาแล้ว  

ล่าสุด เว็บไซด์ราชกิจการนุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งคสช. ใช้มาตรา 44 ออกประกาศคุ้มครองเจ้าหน้าที่บริหารจัดการสต็อกข้าว ป้องกันการถูกฟ้องกลับ และข่มขู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เผยคุ้มครองย้อนหลังถึง 22 พ.ค.2557 เพื่อเดินหน้าตรวจสอบทุจริตโครงการจำนำข้าว 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตราดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้การเดินหน้าสางปัญหาต่างๆ เป็นไปด้วย “ความรวดเร็ว”

ทว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความรอบคอบ ในการบังคับใช้มาตราดังกล่าว โดยนำมาใช้เฉพาะในเรื่องที่มี ความจำเป็นเร่งด่วน

แม้มาตรานี้ จะเป็นเหมือน “ทางลัด” ของทุกสิ่ง

แต่อาจกลายเป็น ดาบสองคม" เปิดช่องโหว่บางประการ จากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

ในมุมของ “ภาพลักษณ์” ต่อการใช้มาตรานี้  ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล

ดังนั้น ผู้ที่นายกฯ จะมอบ “ดาบอาญาสิทธิ์” ใช้มาตรา 44 เพื่อกำกับดูแลโครงการต่างๆ จึงต้องเป็นผู้ที่สังคมยอมรับถึง ความโปร่งใส" 

เพื่อป้องกันข้อครหาต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลัง