ตั้งสติ..รับเศรษฐกิจจีน!

ตั้งสติ..รับเศรษฐกิจจีน!

สัปดาห์ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ออกรายงานเรื่อง “เสถียรภาพ การเงินโลก”

 โดยเตือนถึง “ความเสี่ยง” ของหลายประเทศในกลุ่ม “เศรษฐกิจเกิดใหม่” ซึ่งพบว่า “ภาคเอกชน” ของกลุ่มนี้มี “หนี้สิน” เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลขที่ “ไอเอ็มเอฟ” ระบุชัดๆ คือ เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2547 เป็น 18 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2557 ทำให้สัดส่วนของหนี้ภาคธุรกิจเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นจากระดับที่เคยต่ำกว่า 50% มาแตะระดับเฉียดๆ 75% ของจีดีพี

จีน เป็นประเทศต้นๆ ที่ไอเอ็มเอฟระบุว่า หนี้สินภายในประเทศเพิ่มขึ้นเร็วสุด!

ไอเอ็มเอฟ ห่วงว่า หากปัจจัยแวดล้อม เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยและกดดันให้ดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนต้องปรับขึ้นตาม ประเด็นนี้อาจเป็น ระเบิดเวลา ที่กระแทกผ่านไปยัง ภาคการเงิน  กลายเป็นปัญหา เอ็นพีแอลได้ในอนาคต

ไม่นานก่อนที่ ไอเอ็มเอฟ จะออกรายงานฉบับนี้ ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา เพื่อวิเคราะห์ เจาะลึกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า

ดร.เศรษฐพุฒิ พูดอย่างเปิดอกว่า ด้วยความที่ “หัวโบราณ” จึงมีมุมมอง “เชิงลบ” ต่อเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอด สาเหตุเพราะจีนมี สินเชื่อ ที่โตเร็วมาก เรียกว่า สูงสุด เป็นประวัติศาสตร์ โดยโตเร็วว่าสหรัฐช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพร์ม

ในเวลาแค่ 6 ปี สินเชื่อของจีนโตถึง 90% เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ คือ โตจาก 150% ของจีดีพีในปี 2551 เป็น 240% ของจีดีพีในปี 2557 สปีชการเติบโตนับว่าเร็วสุดในโลก

..ถามว่าห่วงอะไร “ดร.เศรษฐพุฒิ” บอกว่า ประเทศไหนที่สินเชื่อโตเร็วมากๆ ไม่นานหลังจากนั้นเศรษฐกิจมักชะลอตัว เขาบอกว่า ไอเอ็มเอฟ เคยศึกษาประวัติของประเทศที่มีการเติบโตทางสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ราวๆ 40-50 ประเทศ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

จากการศึกษาพบว่า ประเทศไหนที่สินเชื่อต่อจีดีพีเติบโตเร็วกว่า 50% หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจของประเทศมักชะลอลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4%

ข้อมูลเชิงสถิติตรงนี้น่าคิดอย่างมาก แปลว่าอะไร? ..แปลว่า จีน มี ความเสี่ยง ที่อาจเผชิญเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่เคยเผชิญมาก่อนหน้านี้ และถ้าใช้ค่าสถิติเฉลี่ย คือ 3-4% ตามที่ไอเอ็มเอฟศึกษาพบ เท่ากับว่าในอนาคตเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะเติบโตเหลือเพียง 4-5% จากเดิมที่เคยเติบโตได้ราว 7-8% 

ปัจจุบันแค่เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าประมาณการที่ 7% ยังกระแทกเศรษฐกิจอาเซียนและไทยขนาดนี้ แล้วถ้าเศรษฐกิจจีนเผชิญสถานการณ์เดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เคยเผชิญมา ..ผลกระทบกับเราจะเป็นอย่างไร นับเป็นเรื่องที่ควรต้องคิดและเตรียมการแต่เนิ่นๆ

หลายคนมองว่าจีนไม่เหมือนประเทศอื่น ตรงที่จีนมีเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ จึงน่าจะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ปรับตัวลงแรงได้ ..ทว่าเรื่องนี้ “ดร.เศรษฐพุฒิ” ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าคิดไว้ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ เดิมช่องทางการให้สินเชื่อของจีน ส่วนใหญ่ทำผ่านแบงก์รัฐขนาดใหญ่ 4 แห่ง แต่การเติบโตของ หนี้สิน ในระยะหลังเป็นการโตผ่านช่องทางอื่น เช่น การออกบอนด์ ซึ่งมีมูลค่าเกือบครึ่งของยอดระดมทุนใหม่

สอง คือ คนเริ่มตั้งคำถามถึงกลไกในการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐว่าเหมาะสมหรือไม่ สะท้อนผ่านการเข้าแทรกแซงในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมา ซึ่งดูไม่ค่อยดีนัก

สุดท้าย คือ จีนยังไม่เคยผ่านวิกฤติสถาบันการเงินแบบจริงๆ จังๆ มาก่อน จึงมีคำถามเรื่องการรับมือ

ทั้งหมดนี้จึงเป็น คำตอบ ว่าทำไมภาพ “การฟื้นตัว” ของ “เศรษฐกิจไทย” ในอนาคตยังดู “เลือนลาง”  ..นั่นเพราะเศรษฐกิจ “จีน” ยังคงเป็น “คำถาม” ใหญ่ในเวลานี้!