จับตา‘เรทติ้ง’เรียงช่องใหม่

จับตา‘เรทติ้ง’เรียงช่องใหม่

จากข้อมูลของ “นีลเส็น” ที่สำรวจการรับชมทีวีของ 23 ล้านครัวเรือนไทยทั่วประเทศเดือน ก.ค. 2558

 ระบุสัดส่วนการรับชมจากเสาอากาศ (อนาล็อก 6 ช่อง) 3.8% กล่องดิจิทัล 16.7% เคเบิลท้องถิ่น 12.6% ทรูวิชั่นส์ 10.8% ทีวีดาวเทียม 56% เห็นได้ว่าการรับชมทีวีของครัวเรือนไทยสัดส่วน 79.4% อยู่บนแพลตฟอร์ม เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม

ขณะที่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) เป็นแพลตฟอร์มการรับชมทีวี เกิดขึ้นท้ายสุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ที่เข้าถึงผู้ชมและครองสัดส่วนสูงกว่า

ในการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ของ กสทช. และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทั้งกิจการใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่ คือเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ทั้งประเภทโครงข่ายและช่องรายการ

ตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลําดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ.2556 กำหนดการจัดเรียงและเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ซึ่งก็คือ ฟรีทีวีหรือทีวีดิจิทัล สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่องตามลำดับ โดย 10 ลำดับแรก สามารถจัดเรียงช่องได้เอง จากนั้นหมายเลข 11-46 เป็นช่องทีวีดิจิทัล สาธารณะและธุรกิจ

ดังนั้นช่วงเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิทัล 24 ช่องใหม่ในปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล จึงมีหมายเลขช่อง 2 ตำแหน่งแตกต่างกัน คือ หมายเลขบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ที่เลือกตำแหน่งช่องจากลำดับเงินประมูล ผู้ประมูลสูงสุดได้สิทธิเลือกหมายเลขช่องเป็นลำดับแรก และหมายเลขช่องบนแพลตฟอร์มเคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่ต้องบวกเลขช่องอีก 10 จากหลายเลขกล่องดิจิทัล

  รูปแบบการจัดเรียงช่องรายการของเคเบิลและทีวีดาวเทียม ก่อนบังคับใช้ประกาศฯ จัดลำดับช่อง ปี2556 มักนำช่องฟรีทีวี (อนาล็อก) ไว้ลำดับแรกๆ หรือช่องทีวีดาวเทียม ที่ได้รับความนิยมและเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จะได้ตำแหน่งหมายเลขตัวเดียว หรือลำดับ 1-9 ที่สะดวกต่อการกดรีโรทของคนดู

หลังจากทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ เม.ย.2557 โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ต้องจัดเรียงช่องตามประกาศ กสทช. ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขช่องจากเดิม โดยเฉพาะหมายเลข 1-10 ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการจัดเรียงแตกต่างกัน จากปัจจัยช่องยอดนิยมและช่อง“พันธมิตร” ของแต่ละโครงข่าย ซึ่งมีทั้งช่องทีวีดิจิทัล ที่ได้ตำแหน่งทั้งใน 10 ช่องแรก และหมายเลขตามประกาศฯ กสทช.

การทำวิจัยของสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นออกอากาศ และอัพเดทการรับชมทีวีดิจิทัลอีกหลายครั้งในปีที่ผ่านมา พบว่า เรทติ้ง ช่องทีวีอนาล็อกเดิม ลดลง ทั้งจากปัจจัยทีวีดิจิทัลช่องใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือกในการรับชมมากขึ้น และอีกปัญหาสำคัญ สับสน หมายเลขช่อง รวมทั้งหากเลขช่องที่คุ้นเคยไม่เจอ

ในปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่าทั้งช่องอนาล็อกเดิมและทีวีดิจิทัล ต่างโหมทำการสื่อสาร โฆษณา และประชาสัมพันธ์หมายเลขช่อง ที่แต่ละช่องทีวีดิจิทัล จะมี 2 หมายเลข รวมทั้งหมายเลขในตำแหน่งพิเศษ!! ใน 10 อันดับแรกบนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม

  การประชุมบอร์ด กสท. วันจันทร์ที่ผ่านมา เห็นชอบ ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ... หรือร่างประกาศฯเรียงช่องใหม่ สาระสำคัญคือให้เคเบิลและทีวีดาวเทียม เรียงช่องทีวีดิจิทัล ไว้ที่หมายเลข 1-36 เหมือนแพลตฟอร์มโทรทัศน์ภาคพื้นดิน

เท่ากับว่าเมื่อประกาศฯ เรียงช่องใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของ บอร์ดใหญ่ กสทช. ในวันพุธ 16 ก.ย.นี้ หาก “เห็นชอบ” จะไปสู่ขั้นตอนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ เคเบิลและทีวีดาวเทียมต้องดำเนินการตามประกาศฯใน 60 วัน

การจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัลใหม่ในเคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มที่ครองสัดส่วน 79.4% ของการรับชมทีวี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง “หมายเลขช่อง” ที่ผู้ชมจะต้องเรียนรู้ใหม่ แต่ครั้งนี้น่าจะง่ายต่อการจดจำภายใต้ “หมายเลขเดียว”ทุกแพลตฟอร์ม

การเปลี่ยนแปลงเลขช่องทีวีดิจิทัลครั้งนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญวัดพลัง คอนเทนท์ เพื่อสร้างเรทติ้งอีกครั้ง และเป็นการแข่งขันที่ไม่มีแต้มต่อจาก “หมายเลข” ในตำแหน่งพิเศษ 10 ลำดับแรก