'คิวที' กับนโยบายการเงินของจีน!

'คิวที' กับนโยบายการเงินของจีน!

มีเรื่องชวนให้ “ตื่นเต้น” และต้อง “ติดตาม” เป็นประจำ สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีน

 ที่ดำเนินการผ่านทั้งเครื่องมือ “การเงิน” และ “การคลัง” ..โดยเฉพาะฝั่งการเงิน  ซึ่ง “กระบวนท่า” ในการ “แก้ปัญหา” นับวันยิ่ง “ลึกล้ำ” ยากเกินคาดเดา

 

กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา “จีน” ประกาศ “ลดค่ากลาง” ของ “เงินหยวน” ลง 3 ครั้ง ช่วงเวลานั้นหลายคนมองว่าจีนได้กระโดดเข้าสู่ “สงครามค่าเงิน” อย่างเต็มตัว เพราะการลดค่าเงินดังกล่าว มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ตัวเลขการส่งออกของจีนออกมาน่าผิดหวัง หลายคนจึงมองว่า จีน กำลังหันมาใช้ “ค่าเงิน” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนที่หลายประเทศทำอยู่

 

ทว่า ทั่วโลกกลับต้องตกตะลึงอีกครั้ง เมื่อ จีน เปิดเผยตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือน ส.ค. ซึ่งลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ ประเด็นนี้ชวนให้หลายคนกลับมา “คิดหนัก” ว่า จีนกำลังเล่นอะไร เพราะนโยบายที่ออกมาดูขัดแย้งในตัวเอง ..และนี่จึงเป็นที่มาของทฤษฎีใหม่ที่เรียกว่า “คิวที”(Quantitative Tightening) ซึ่งถูกบัญญัติโดย “นักวิเคราะห์” ของ “ด๊อยซ์แบงก์”

 

สำหรับความเห็นของ “นักเศรษฐศาสตร์” ไทยที่มีต่อเรื่องนี้ หลายคนมองว่า ทุนสำรองฯ ของจีนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะจีนเทขายออกมาเพื่อดูแลเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป

 

แต่มีหลายคนที่เห็นต่าง โดยมองว่า “การขาย” ทุนสำรองเพื่อ “ดึงเงินหยวน” กลับเข้ามา ดูเป็นการดำเนินนโยบายที่ “ขัดแย้ง” ในตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ จีนพยายามผ่อนปรนนโยบายการเงินลง ทั้งการลดดอกเบี้ยและลดสัดส่วนการกันสำรอง(อาร์อาร์อาร์) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ต่างจากการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ

 

ดังนั้นเพื่อให้ประสิทธิผลมีมากขึ้น เงินหยวนจึงควรต้องอ่อนค่าลงด้วย ..การที่จีนเทขายทุนสำรองออกมาเพื่อแลกเงินหยวนกลับเข้าไป จึงไม่ต่างจากการลดประสิทธิผลของเครื่องมือการเงินที่ได้ทำเอาไว้

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ “นักวิเคราะห์” อีกกลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของจีนอาจเป็นแผนตอบโต้ “สหรัฐ” หลังจากที่ถูกสหรัฐเตะสกัดในการผลักดัน “เงินหยวน” เข้าสู่ตระกร้าเงิน “เอสดีอาร์” ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

 

มีการวิเคราะห์กันว่า จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ ปัจจุบันถือพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์) สหรัฐ สัดส่วน 11% ถ้าจีนถล่มขายบอนด์ส่วนนี้ออกมา และกดดันให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ เกิดแพนิกเทขายตาม ซึ่งจะทำให้ “ยีลด์บอนด์” สหรัฐพุ่งปรี๊ด ทฤษฎีนี้จึงถูกเรียกกว่า เป็นมาตรการ “คิวที” ของจีน

 

การที่ยีลด์บอนด์สหรัฐเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการลดทอนประสิทธิผลของมาตรการ “คิวอี” ของสหรัฐ ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ โดย คิวอี ของสหรัฐ หวังผลให้ ยีลด์บอนด์ ลดต่ำลง จูงใจให้เอกชนมาระดมทุนเพื่อไปลงทุน

 

อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง มองกันว่า “คิวที” อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้กับสหรัฐจริง แต่ประสิทธิผลยังคาดเดายาก เพราะต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ นอกจากสหรัฐที่ทำ “คิวอี” ..ยังมี “ยุโรป” และ “ญี่ปุ่น” ทำด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้ายีลด์บอนด์ของสหรัฐ เพิ่มถึงจุดหนึ่ง ก็อาจเกิดการทำ Arbitrage ขึ้นได้

 

นอกจากนี้ แม้ช่วงที่ผ่านมา “จีน” และหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ จะเทขายบอนด์สหรัฐออกมามาก แต่ “ยีลด์บอนด์” ของ “สหรัฐ” แทบไม่สะดุ้งเลย มีการขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับ 2% เศษ มาอยู่แถวๆ 2.18% เทียบกับหลายเดือนก่อนที่เคยขึ้นไปสูงถึง 2.4%

 

แม้ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจีนหวังผลอะไรกันแน่ กับการดำเนินนโยบายการเงินที่ดู “ย้อนแย้ง” แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะ “ศึกช้างสาร” 2 ตัว ที่เริ่มห่ำหั่นกันมากขึ้น ประเทศเล็กๆ อย่างเรามิอาจละสายตาได้!