เดินหน้ากระตุ้นศก 'เฟสสอง'

เดินหน้ากระตุ้นศก 'เฟสสอง'

แม้ว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

 ด้วยคะแนนโหวต 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง 

โดยกระบวนการหลังจากนี้ ประธานสปช. จะแจ้งกลับไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในภาย 180 วัน ก่อนจะเดินหน้าสู่การทำประชามติ เสนอกฎหมายลูกต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จนไปสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  

กรณีดังกล่าว ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ยืดระยะเวลาออกไปโรดแมฟเดิม ที่กำหนดจัดการเลือกตั้งในราวเดือน ก.ย.ปี 2559 เป็นเดือน มี.ค.-เม.ย.ปี 2560

ลากยาวออกไปจากกำหนดเลือกตั้งเดิมราว 6 เดือน 

ต้องยอมรับว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลทางจิตวิทยา ต่อ ความเชื่อมั่น การลงทุนอยู่บ้าง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่ต้องการเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เร็วที่สุด

ทว่า ก็ยังต้องเคารพเสียงโหวตของสปช. ซึ่งเป็นประชาธิปไตย รูปแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การอยู่ ยาวขึ้น ของรัฐบาลชุดนี้ ทางหนึ่ง น่าจะทำให้การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เดินหน้าต่อเนื่อง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟสแรก วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท โดยเน้นการช่วยเหลือไปที่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรฐานรากของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การอัดฉีดเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน การใช้จ่ายเงินผ่านตำบล รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเฟสที่สอง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (8 ก.ย.) จะเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และแพคเก็จช่วยเหลือด้านภาษี

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเฟส 3 ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งพูดถึงการลงทุนในโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในหลายโครงการที่รัฐบาลวางแผนไว้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ขึ้น ที่พอจะมีลมหายใจหล่อเลี้ยงธุรกิจ เมื่อเทียบกับชีพจรธุรกิจที่รวยรินของเอสเอ็มอี 

เงินส่วนนี้ยังจะหมุนไปช่วยธุรกิจต่อเนื่องในรายที่เป็นเอสเอ็มอี อีกทอดหนึ่ง 

ในแง่ของการจัดลำดับความสำคัญของการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในมุมมองของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขุนพลเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ยังเน้นไปที่ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ 

“จากมาก ไปหาน้อย” ซึ่งได้ใจ “ภาคประชาชน”

นี่คือ คุณค่าการอยู่ยาวของรัฐบาล ภายใต้สมมติฐานที่ว่า.. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ใส่ลงไปช่วยเหลือประชาชน เห็นผลเป็นรูปธรรม  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สะดุด

ไม่ต้องถึงกับฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด เพราะเป็นเรื่องยากที่ไม่มีใครคาดหวัง 

ขอเพียงให้เศรษฐกิจเริ่มโงหัว ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ของปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2557 

จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจภายใน และภายนอกประเทศรุมเร้า

ก่อนเดินหน้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง