ดีไซน์ด้วย “เท้า”

ดีไซน์ด้วย “เท้า”

Design by Feet ถ้าแปลให้สุภาพก็คือ การออกแบบด้วยเท้า หรือถ้าจะแปลให้อร่อยก็อาจพูดได้ว่าเป็นการ “ใช้เท้าดีไซน์”

บ้านเรามีสำนวน เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า ซึ่งสะท้อนความหมายในแง่ลบ และที่ยิ่งลบกว่าคือ มองว่า เท้า เป็นของต่ำ คงไม่สามารถใช้ประโยชน์ในแง่ที่ดีได้นอกจากใช้งานในการเดินเป็นหลัก หากเราเติบโตมาในสังคมและวัฒนธรรมไทย เราคงมองเท้าในมิติแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราได้รับการกล่อมเกลามาอย่างนั้น

กระทั่ง ผมได้เคล็ดวิชาหนึ่งมาจาก รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ นั่นคือ Design by Feet ซึ่งแปลให้สุภาพแล้วก็คือ การออกแบบด้วยเท้า หรือถ้าจะแปลให้อร่อยก็อาจพูดได้ว่าเป็นการ “ใช้เท้าดีไซน์”

คำนี้มีที่มาครับ อาจารย์สมเจตน์คือวิศวกรผู้ออกแบบสวนสยาม ตั้งแต่เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้วให้เป็นสวนสนุกทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น อาจจะเรียกได้ว่า สวนสยามเป็นเมกะโปรเจกต์แห่งยุคสมัยที่เรายังไม่มีรถไฟฟ้าใช้กัน

ปกติเวลาคนเราพูดถึงเรื่องการออกแบบ มักจะนึกว่า เป็นการใช้จินตนาการผสมผสานกลิ่นกาแฟ นั่งทำงานชิลๆ ในร้านหรูๆ พร้อมแม็คบุ๊คสักเครื่อง มีไวไฟให้ใช้ เขาหรือเธอก็อาจออกแบบอะไรดีดีออกมาได้ บางทีก็อาจนึกไปถึง การออกแบบด้วยสัมผัสเชิงศิลปิน ใส่อารมณ์และความรู้สึกเข้าไปผสานกับเทรนด์ที่ล้ำสมัย ก็อาจเป็นการออกแบบที่ดีได้เช่นกัน

แต่นั่นเป็นเรื่องการออกแบบเชิงสัมผัส เป็นการออกแบบเพื่อความสวยงาม เน้นที่การเสพจากประสบการณ์แรกพบ ดึงดูดความสนใจเมื่อพบเห็น

ส่วนของอาจารย์สมเจตน์ ทิณพงษ์ เนื่องจากท่านเป็นวิศวกร และยุคนั้นก็ไม่มีร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ท่านก็เลยใช้วิธีการเดิน ตั้งแต่เดินทางไปเยี่ยมชมสวนสนุกต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล จนถึงการเดินในไซต์งานจริงเพื่อสำรวจพื้นที่ ตรงนี้จะเป็นอะไร ส่วนไหนจะก่อสร้างอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขของสภาพพื้นที่ ทุนที่ต้องใช้ แนวโน้มความนิยม ช่องทางการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต ตรงไหนควรเป็นสวนต้นไม้ ตรงไหนควรเป็นสวนน้ำ ตรงไหนเป็นห้องน้ำ ตรงไหนควรเป็นจุดพักให้นักท่องเที่ยวได้ทานอาหารหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ฯลฯ

ตรงเรื่องการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลนี้ ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะการเก็บข้อมูลโดยปกติก็จะได้ข้อมูล แต่ลึกๆ แล้วที่อาจจะได้มากกว่าคือ “แรงบันดาลใจ” จากนั้นจึงพัฒนาให้เป็นความคิดใหม่จนเขยิบไปเป็นนวัตกรรม

ทั้งหมดนี้คือ การออกแบบ และคงทำไม่ได้ในห้องแอร์ ทว่า ต้องเดินลงไปในพื้นที่จริงๆ หรือไปเริ่มต้นการทำงานในสถานที่จริง ซึ่งนี่เป็นอีกครึ่งซีกของการออกแบบที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป เวลาที่เห็นตึกเห็นอาคารสวยงาม คนส่วนใหญ่จะชื่นชมสถาปนิกผู้ออกแบบ ความจริงเบื้องหลังก็คือ เหล่าวิศวกรที่ต้องคำนวณโครงสร้าง การรับน้ำหนัก แรงดึง แรงอัด แรงสัมผัส แรงเสียดทาน ความเครียด ฯลฯ

แน่นอนครับ ความสวยงามนั้น มีแรงบันดาลใจกับจินตนาการมาก่อน แต่พอลงมือทำแล้ว ความรู้ต้องยึดให้มั่นเป็นหลัก ลองคิดดูว่า ถ้าหากคำนึงถึงแต่ความงามภายนอก โดยปราศจากการคำนวณอย่างรอบคอบตามหลักวิชาชีพที่ถูกต้องแล้ว สิ่งสวยงามจะไม่กลายเป็นซากปรักหักพังในที่สุดหรือ

ยิ่งถ้าหากมองดูสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของโลก อย่างปิระมิด จะยิ่งเห็นว่า สิ่งที่มหัศจรรย์จริงๆ คือ ความสามารถในการออกแบบเชิงวิศวกรรมที่ต้องคิดมากมายตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง การลำเลียงผู้คน การจัดหาที่พักแรม  อาหาร โลจิสติกส์ ฯลฯ นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงด้วยซ้ำไปว่า เขายกหินที่หนักหลายร้อยกิโลกรัมขึ้นไปเรียงเป็นชั้นๆ ได้อย่างไร

ก่อนที่จะคำนวณ หรือ เขียนด้วยมือ ดูเหมือนว่า การเขียนด้วยเท้าจะมาก่อน เพราะว่า หากไม่ลงไปในสถานที่จริง คงยากที่เราจะสามารถคิดคำนวณเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้จริง

การทำนวัตกรรมนั้น สำคัญที่สุดไม่ใช่จินตนาการ หากแต่อยู่ที่การลงมือทำให้เกิดมรรคผล หากฝันอยู่ในหัวอย่างเดียว ไม่มีทางเรียกว่าเป็นนวัตกรรมได้

เมื่อการลง “มือ” เป็นหัวใจ การลง “เท้า” ออกเดินย่ำเพื่อค้นหาข้อมูลและข้อเท็จจริงก็คือ กระดูกสันหลัง

เพราะนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องเสียเหงื่อครับ และเสียมากด้วย ทั้งมือทั้งเท้าจึงต้องทำงานประสานกันอย่างดี ขาดอย่างใดไปก็ไม่ครบเครื่อง อันนี้พูดไปเหมือนจะเป็นปรัชญา ซึ่งไม่ใช่ครับ นี่เป็นความจริงแท้เลยทีเดียว

ลองดูตัวอย่างสินค้านวัตกรรมสักชิ้น เช่น การจะผลิตรถยนต์รุ่นใหม่สักคัน สมมติว่าจะใช้พลังงานขับเคลื่อนจากไฮโดรเจน เราอาจนั่งคิดค้นคว้าได้ในห้องแล็ปก็จริงอยู่ แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องทำการผลิตจริงแล้ว ไหนจะต้องหาโรงงานผลิต ไหนจะต้องจัดหาแหล่งป้อนวัตถุดิบ ไหนจะเรื่องทำการตลาดอีก ฯลฯ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้ว่าในโลกดิจิตอลจะสามารถทำได้ชนิดที่เรียกว่า แทบไม่ต้องลุกไปไหนแล้วก็ตาม ทว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะเชื่อได้ไหมว่า ซัพพลายเออร์รายนั้นจะส่งมอบของให้เราได้ทันเวลา ถ้าหากเราไม่เคยไปเยี่ยมชมโรงงานและสายการผลิตเขามาก่อนเลย ไม่อย่างนั้น เผลอๆ อาจได้โรงงานผีไม่มีตัวตนมาหลอกเงินเราไปฟรีก็เป็นได้

อันที่จริง เรายังมีอีกสำนวนหนึ่งที่น่าจะเหมาะกับการทำนวัตกรรมมากคือ ด้วยสมอง สองมือ และสองเท้า ซึ่งทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมเกิดจากคิด จากนั้นลงมือค้นคว้าบวกลงมือทำ เมื่อเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ต้องทำให้มันเติบโตโดยใช้เท้าทั้งสองเดินทางบุกบั่นสร้างนวัตกรรมให้เป็นจริง

นวัตกรรม จึงต่างจากการประดิษฐ์ตรงนี้แหละครับ นักประดิษฐ์ที่เก่งกาจนั้น สามารถคิดแล้วลงมือสร้างได้สำเร็จ แต่การทำให้มันเติบโตเป็นเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งต้องใช้ทักษะการจัดการเข้ามาเป็นหลักใหญ่ หากไม่สามารถจัดการได้ดีก็จะพาลล้มเหลวเอาได้ หรือจะเปรียบเปรยไปก็อาจบอกได้ว่า นวัตกรรมเจ๊งเพราะ มือกับเท้าทำงานไม่สัมพันธ์กัน

ดังนั้น ในโลกธุรกิจ การใช้เท้าในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ไร้มารยาทแต่ประการใด เพราะความจริง การใช้เท้านั้น สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างดีเยี่ยม ผ่านการเดินทางไปศึกษาดูงาน เยี่ยมชม สร้างมิตรไมตรี ได้พูดคุยรู้จักทำความคุ้นเคยกัน จนกระทั่งมั่นใจจึงสามารถเจรจาต้าอ่วยทำธุรกิจกันต่อไปได้ เพราะเราคงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยการนั่งเล่นไลน์หรือเฟซบุ๊คเท่านั้น จริงไหมครับ