‘หยวน’ เขย่าตลาดเงินโลก!

‘หยวน’ เขย่าตลาดเงินโลก!

สัปดาห์ที่ผ่านมา“ตลาดเงินโลก” มีเรื่องให้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อ“ธนาคารกลางจีน” ช็อกโลก

ด้วยการประกาศ “ลดค่ากลาง ของเงินหยวนลง1.9%หลังจากนั้นได้ปรับค่ากลางที่ใช้อ้างอิงให้สอดรับกับกลไกตลาด โดยใช้ราคาปิดของวันก่อนหน้ามาเป็นค่ากลางอ้างอิงของวันถัดไป สะท้อนถึงความพยายามของทางการจีนที่จะทำให้เงินหยวน เคลื่อนไหวได้เสรีขึ้น แม้ธนาคารกลางจีนจะยังกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวในแต่ละวันไว้ไม่ให้เกิน2%จากราคาอ้างอิงก็ตาม

ความจริงแล้วการปรับค่าเงินที่1.9%ถ้าเป็นประเทศอื่น คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากนัก แต่สำหรับจีน แล้ว แค่พญามังกร กระดิกหนวด หลายประเทศถึงกับสั่นสะท้าน ..เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนผ่าน ค่าเงิน ราคาหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั่วโลกที่ร่วงลงในทันตา

การปรับค่ากลางของเงินหยวนครั้งนี้ แม้ธนาคารกลางจีนจะให้เหตุผลว่า เป็นเพียงการปรับวิธีการคำนวณใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ที่มากขึ้น อีกทั้งการปรับค่ากลางดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฎิรูปทางการเงินของจีน ซึ่งช่วยให้ค่าเงินหยวนของจีนมีความยืดหยุ่นที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน

แต่ทว่า “ตลาดเงิน กลับมองการลดค่ากลางของเงินหยวนในครั้งนี้ว่าหวังผล ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มากกว่า เพราะการปรับค่ากลางมีขึ้นเพียงแค่1วัน หลังจากที่ทางการจีนประกาศตัวเลขการส่งออก เดือนก.ค.2558ออกมาหดตัวลงถึง8%

หลายคนมองว่า จีนหมดความอดทน กับการแข็งค่า ของเงินหยวน เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะยูโร และเยน เพราะถ้าดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา เงินหยวนแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ “ยูโร” และ “เยน” อ่อนค่าลงราว 20% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์ เท่ากับหยวนแข็งค่าขึ้นโดยปริยายเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหล่านี้

ประเด็นที่อยากชวนคิดต่อ คือ การดำเนินนโยบายดังกล่าว เท่ากับว่าจีน กำลังหยิบเครื่องมือ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้กัน ไม่ว่าจะทั้งผ่านการทำคิวอี หรือลดดอกเบี้ย ก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การที่จีน ทำเช่นนี้ ก็เพื่อปกป้อง เศรษฐกิจตัวเองจากสงครามค่าเงิน ที่กำลังดำเนินอยู่ ..คำถามที่น่าคิดกว่า คือ ถ้าประเทศอื่นซึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับจีน หยิบเครื่องมือนี้มาใช้บ้าง หรือที่ใช้อยู่แล้ว ก็นำมาใช้เพิ่มเติม สถานการณ์ตลาดเงินโลก ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

เวลานี้หลายคนเริ่มมองข้ามไปถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่16-17ก.ย.นี้ ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) จะมองกรณีการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนอย่างไร ถ้า เฟด เห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ เฟด อาจตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไป ..และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงค่าเงินทั่วโลกคงปั่นป่วนไม่น้อย

เท่าที่ผมสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่า ตามทิศทางของค่าเงินหยวน แต่ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐพลิกผัน ไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้..แรงกดดันต่อค่าเงินบาทอาจพลิกกลับ ถึงตอนนั้นคงเป็น โจทย์ท้าทายแรกที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ต้องเผชิญ!