มรสุมหลายลูก รุมล้อมเศรษฐกิจไทย

มรสุมหลายลูก รุมล้อมเศรษฐกิจไทย

ต้องบอกว่า “ภาวะเศรษฐกิจไทย” ยามนี้ รับมือได้ยากยิ่ง หลังเผชิญมรสุมหลายลูก

 ถาโถมเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน

ไล่มาตั้งแต่ เรื่องที่ว่าด้วย มาตรฐาน ทั้ง มาตรฐานการบิน  กับ มาตรฐานประมง ไทย 

กรณีมาตรฐานการบิน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้สัญลักษณ์ ธงแดง ประเทศไทยผ่านเว็บไซด์กรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรอง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมการบินของไทย และ “รายได้”อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากอุปสรรคในการขยายหรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ โดยหลายประเทศต่างยึดเกณฑ์นี้ มากดดันไทย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐ

ขณะที่มาตรฐานประมง เป็นอีกเรื่องที่ตีคู่กันมาติดๆ เมื่ออียู ประกาศให้ ใบเหลือง กับไทยจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) กระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลไปยังอียูในอนาคต หากไม่สามารถแก้ไขมาตรฐานได้ทัน “เส้นตาย” ในการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ในเดือนต.ค.ได้สำเร็จ อียูจะแบนการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย 

พ้นจากเรื่องมาตรฐาน ปัญหาที่ไทยเผชิญในเวทีการค้าโลก ยังไม่จบ เมื่อ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก (ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ-IMF) อย่าง จีน  กำลังรับมือกับภาวะ ความผันผวน ของตลาดทุน แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่า ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่ก็ยังมีลุ้นในระยะถัดไปกับภาวะฟองสบู่ หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ 

โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย ในช่วงปี 2555-2557 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตร 10.48 % ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก

กรณีจีน หากผสมโรงกับกรณี IUU ถือเป็น “บ่วงหนัก” รัดคอเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพิงการส่งออกมากถึง 60 กว่า % ของจีดีพี ขณะที่มูลค่าส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปีซ้อน (2556-2557) เดือนพ.ค.ปีนี้ มูลค่าการส่งออกยังคงติดลบ 5.01%

ไทยยังต้องรับมือกับ ปัญหา “ตุรกี”  จากกรณีทางการไทย ผลักดันผู้อพยพชาวอุยกูร์เติร์คไปยังจีน ทำให้ทางการตุรกีและสหรัฐฯแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจ ถือเป็นการ “เปิดศึก” อีกด้านของไทย แม้ตุรกี จะเป็นประเทศที่มีธุรกรรมการค้ากับไทยไม่มาก (มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตุรกีปี 2557 อยู่ที่ 1,371 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว และการเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับตุรกี ในอนาคต 

ไม่นับปัญหา “ในบ้าน” ของไทย ที่ยังปัดกวาดกันไม่จบ โดยเฉพาะการ เร่งเบิกจ่าย งบประมาณ เพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ที่จนแล้วจนรอดก็ยังเข็นออกมาไม่ได้ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมาติงกันแรงๆ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งการเบิกจ่าย เพราะดูจะเป็น ความหวังเดียว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง “ครึ่งหลัง” ของปี 

ล่าสุด ไทยยังต้องเร่งแก้ วิกฤติภัยแล้ง ที่ถูกระบุว่าหนักสุดในรอบ 3 ทศวรรษ บางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค อาจจะลามไปถึงน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในอนาคต 

ขณะที่ปัญหา การลอบ วางระเบิด ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ เป็นอีกมรสุมร้าย สร้างความหดหู่ใจให้คนไทย หนักขึ้นไปอีก 

มรสุมหลายลูก ทั้ง ใน-ต่างประเทศ  ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เช่นนี้ แน่นอนย่อมส่งผลกระทบความเชื่อมั่น - กำลังซื้อ ของผู้คนต่อไป 

กดดัน จีดีพีไทย ปีนี้ ที่หลายสำนักเศรษฐกิจ กำลังปรับเป้าแล้วปรับเป้าอีก จากปัญหาที่มีเข้ามา ไม่เว้นแต่ละวัน"