โลกในต่างมุมมอง

โลกในต่างมุมมอง

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลกจากศาสตราจารย์ Robert Aliber แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก

ผู้ที่เคยทำนายถึงการเกิดวิกฤติการเงินในไอซ์แลนด์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหลังจากได้รับฟังแล้ว ผู้เขียนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้เห็นต่างจากอาจารย์ในหลายจุด โดยผู้เขียนจะขอฉายภาพที่อาจารย์บรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก 4 ภาพ ก่อนที่จะเสนอมุมมองที่แตกต่าง ดังนี้


ภาพที่หนึ่ง ใน 2-3 ปีข้างหน้า อาจารย์มองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอรุนแรงจนใกล้จะเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Hard Landing) อันเป็นผลจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนแตกลง


โดยที่ผ่านมา สาเหตุที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสังคมเมือง (Urbanisation) ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีมากขึ้น ราคาที่อยู่อาศัยจึงสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการมากขึ้น


นอกจากนั้น การที่ดอกเบี้ยของจีนถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าความเป็นจริงโดยตลอด ชาวจีนจึงนิยมซื้ออสังหาฯ เพื่อเป็นการลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงิน ดังนั้น ราคาอสังหาฯ ในจีนจึงพุ่งสูงเกินความเป็นจริงมากในช่วงที่ผ่านมา


แต่ในปัจจุบัน การย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรมที่เริ่มจะหมดลง ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเริ่มลดลง ราคาจึงเริ่มตกลง ผู้ที่เคยซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรจึงเริ่มตื่นตระหนก และเร่งขายอสังหาฯ ที่ตนถือ ซึ่งยิ่งทำให้ราคาตกลงมากขึ้น


ราคาที่ลดลง ส่งผลสืบเนื่องให้ความมั่งคั่ง (Wealth) ของชาวจีนลดลง ชาวจีนจึงเริ่มประหยัด โดยใช้จ่ายน้อยลง ทำให้การบริโภคและลงทุนของจีนลดลง และทำให้เศรษฐกิจชะลอลงรุนแรงขึ้นในลักษณะใกล้ที่จะเกิด Hard Landing ซึ่งอาจารย์มองว่า เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการผลักดันเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยการส่งออก


ภาพที่สอง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบโลกจะตกต่ำยาว โดยเป็นผลจากความต้องการในจีนที่ลดลง ประกอบกับรถยนต์ในปัจจุบันสามารถใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีความต้องการน้ำมันลดลง


ทั้งนี้ อาจารย์มองว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นมีโอกาสที่จะลดต่ำลงได้อีก เนื่องจากราคาที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้นเป็นผลจากการที่ภาคเอกชนเก็บสั่งสมน้ำมันดิบ แต่ในระยะต่อไป สต็อกน้ำมันที่เริ่มเต็มจะทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเก็บน้ำมันได้มากอีก ทำให้ความต้องการรวมถึงราคาในระยะต่อไปจะต้องลดลง และจะอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อย 2-3 ปี นอกจากนั้น อาจารย์ยังคาดว่าราคาที่ต่ำนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก


ภาพที่สาม ได้แก่ การที่กรีซอาจต้องออกจากยูโรโซนกลับไปใช้เงินสกุลตนเอง โดยอาจารย์มองว่าสาเหตุเป็นเพราะที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตของประเทศในกลุ่มยุโรปใต้โดยเฉพาะกรีซสูงกว่ายุโรปเหนือโดยเฉพาะเยอรมนีมาก ซึ่งเป็นผลจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นายจ้างในเยอรมนีบริหารจัดการให้ค่าแรงอยู่ในระดับต่ำ


ทั้งนี้ อาจารย์มองว่าประสิทธิภาพการผลิตที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปเหนือและใต้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองยุโรปแตกต่างกันมากขึ้น และทำให้ยุโรปใต้โดยเฉพาะกรีซจำเป็นต้องออกจากยูโรโซนในที่สุด โดยมีภาคการเมืองเป็นตัวเร่ง แต่การที่กรีซออกจากยูโรโซนจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปมากนักเนื่องจากเยอรมนีที่เป็นพี่ใหญ่ยังคงแข็งแกร่ง


ภาพสุดท้าย เศรษฐกิจสหรัฐ อาจขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มชะลอลงในระยะต่อไป โดยในปีที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีจากภาคการผลิตที่ฟื้นตัวจนทำให้ความต้องการแรงงานมีมากขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป สหรัฐจะเผชิญกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำสงครามค่าเงิน จนทำให้รายได้จากภาคการส่งออกสหรัฐเริ่มลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้สหรัฐที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิได้ประโยชน์ โดยอาจารย์เห็นว่า ผลลบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะมีผลทำให้การส่งออกลดลง มากกว่าผลบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในระยะต่อไป


ทั้งนี้ ผู้เขียนมีมุมมองที่แตกต่างจากอาจารย์ใน 4 ภาพ ดังนี้


หนึ่ง ในประเด็นจีน ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจระยะต่อไปจะชะลอจริง แต่จากการที่รัฐบาลจีนต้องการให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากลมากขึ้น (เพื่อให้แทนที่ดอลลาร์ในอนาคต) ทำให้รัฐบาลจีนไม่น่าจะผลักให้หยวนอ่อนค่าลงรุนแรง แต่น่าจะใช้นโยบายผ่อนคลายในประเทศค่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่า


สอง ประเด็นด้านราคาน้ำมันที่จะตกต่ำระยะยาวนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้นำเข้ามากนัก เนื่องจากสาเหตุหนึ่งที่ราคาลดลงเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นตกต่ำลง ความต้องการจึงลดลง ดังนั้น ราคาที่ตกต่ำไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนัก


สาม ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการที่กรีซจะออกจากยูโรโซน โดยเห็นว่าในที่สุดแล้ว ประเทศยุโรปจะได้ประโยชน์มากกว่าหากยังให้กรีซและประเทศในกลุ่มยุโรปใต้อยู่ในยูโรโซนต่อไป เนื่องจากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน อันจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นยุโรปในระยะยาว และเห็นว่าประเทศยุโรปใต้จะกล้ำกลืนฝืนทนกับมาตรการรัดเข็มขัดจนเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น


และสี่ ผู้เขียนเห็นด้วยที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะต่อไป จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจนกระทบภาคเศรษฐกิจอื่น แต่สงครามค่าเงินที่เกิดขึ้นจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายโดยขึ้นดอกเบี้ยอย่างเชื่องช้า (หรืออาจไม่ขึ้นเลยในปีนี้) ประกอบกับพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น ทำให้สหรัฐจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ทีประมาณ 2.5-3.0% ต่อปีในระยะต่อไป


กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจะเป็นอยู่ในช่วงซึมยาว โดยจุดอ่อนของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่เศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ส่วนยุโรปจะฟื้นตัวแผ่วขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงบ้าง โดยมีความเสี่ยงหลักได้แก่สงครามค่าเงินที่จะนำมาซึ่งความผันผวนทางการเงิน


ไม่ว่ามุมมองจะแตกต่างกันอย่างไร แต่ผลสรุปสุดท้ายคือเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ไม่สดใสอย่างแน่นอน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดพึงระวัง


---------------------
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่