"Old baby" ย้อนอดีตไปกับ Retro เฟอร์นิเจอร์

"Old baby" ย้อนอดีตไปกับ Retro เฟอร์นิเจอร์

"Old baby"เป็นชื่อแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านในสไตล์ Retro ของคุณสาลพร หิรัญประดิษฐ์ บริษัท สามพรการค้า จำกัด

ที่นี่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งรูปแบบธุรกิจของ Old baby นั้น มีความแตกต่างจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป เพราะเป็นการนำวัสดุที่เป็นของเก่า มาคืนชีพให้กลายเป็นสินค้าอีกครั้ง ในรูปแบบที่แตกต่าง

จากจุดเริ่มต้นของความชื่นชอบงานศิลปะและการออกแบบ โดยเฉพาะงานรีไซเคิลและของเก่า ทำให้คุณสาลพร ติดตามเทรนด์และกระแสของผู้บริโภคเพื่อมาใช้ในการออกแบบ โดยปัจจุบันสินค้าของ Old baby แบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่

โซฟาที่ทำมาจากโครงของรถยนต์โบราณ ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Old baby คุณสาลพรมองว่า รถยนต์เป็นสินค้าที่เป็นตัวแทนของความเป็น Retro ได้อย่างเด่นชัด จากรถยนต์เก่าที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว แต่อยากให้อยู่กับเราได้ต่อไป ก็ต้องปรับบทบาทหน้าที่ โดยการนำด้านหน้าของรถมาดัดแปลงเป็นโซฟานั้นเอง

หมวดที่สองคือ ตู้เพลงโบราณ หรือที่เรียกว่า Jukebox เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกัน จากความชื่นชอบของลูกค้าที่ต้องการเครื่องเล่นเพลงที่สามารถตั้งโชว์ได้ แล้วสามารถกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างความโดดเด่นได้ด้วย โดย Old baby นำ Jukebox มาปรับปรุงให้สามารถใช้กับเพลง MP3 และ USB ได้

ต่อมาคือ ตู้เย็นโบราณ พวกเขาได้ปรับปรุงใหม่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซม ตกแต่งสีสันภายนอกให้สวยงามน่าใช้ยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบทำความเย็นใหม่

ปิดท้ายกับ ปั๊มโบราณ สำหรับสินค้าในหมวดหมู่นี้ Old baby มองเห็นถึงเทรนด์ที่เป็นที่นิยมของคนที่ค่อนข้างมีเงิน จัดตกแต่งโรงรถในออกมาในรูปลักษณ์ของปั๊มน้ำมันแบบโบราณ

สำหรับสินค้าของ Old baby ทุกหมวดหมู่ คุณสาลพรมีแนวคิดว่า ทุกชิ้นต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามชนิดการใช้งานของสินค้านั้นๆ ตัวอย่างเช่น การนำตู้เย็นเก่ามาปรับปรุงนั้น ตู้เย็นต้องสามารถประหยัดไฟได้เทียบเท่ากับการประหยัดไฟเบอร์ห้าในปัจจุบัน

ในโมเดลธุรกิจของร้านขายสินค้า Retro การนำของเก่ามาเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ การที่ผู้สร้างสรรผลงานมีความ ความรับผิดชอบต่อสินค้าผ่านทางการรับประกันการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ หลังการใช้งานเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อใจในแบรนด์ รวมถึงเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดด้วย

การสร้างคุณค่าจากของเก่านั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ Customization ทั้งนี้เพราะความชอบในแนว Retro เป็นความชอบส่วนบุคคล การให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบ ช่วยทำให้เกิดความรักในตัวสินค้ามากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางจิตใจ เพราะสินค้าจะกลายเป็นของที่มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นและมีแค่คนๆ เดียว ที่จะได้ครอบครอง

สำหรับกลยุทธ์การตั้งราคานั้น หลายๆ คนมักมีความคิดว่า สินค้า Retro มีราคาแพง แต่ความจริงแล้ว คุณสาลพร มองว่า จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าคำนึงถึงในการตัดสินใจ ดังนั้น Old baby จึงไม่ได้ตั้งราคาสินค้าแพงมากเกินไป อีกทั้งยังไม่ได้มีราคาตลาดที่แน่นอนตายตัว การคิดราคาจึงขึ้นกับต้นทุนของสินค้าเป็นสำคัญ หากต้องการเพิ่มราคาสำหรับสินค้า Retro กลยุทธ์ควรเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าให้มีความเป็น Premium มากขึ้น ตัวเช่น มีการนำคริสตัลของ Swarovski มาประดับตกแต่งให้กับสินค้า กลายเป็นสินค้า Limited edition ซึ่งเป็นการช่วยยกภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดีขึ้นด้วย

การสร้างพันธมิตรก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ คุณสาลพร ใช้ในการสร้างโมเดลธุรกิจ โดยได้สร้างพันธมิตรกับ Rick Dale ซึ่งป็นเจ้าของร้าน Rick’s Restoration หนึ่งในร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังใน Las Vegas ซึ่งส่งผลดีกับ Old baby ทั้งในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย การแลกเปลี่ยนแนวคิด และชิ้นส่วนการผลิตซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ Old baby กำลังมองหาพันธมิตรในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันของ Old baby แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ B2B ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่มาสั่งผลิตสินค้าไปวางจำหน่ายตามที่ต่างๆ เช่น ตลาดนัดรถไฟ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% และ B2C อีก 60% ซึ่งมักเป็นลูกค้าที่ซื้อไปตกแต่งร้านอาหาร Pub กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มวัยเกษียณ และกลุ่มใหม่ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม New Gen ที่มีความชื่นชอบในแนว Retro

สำหรับอนาคต คุณสาลพร ยังมีแนวคิดในการขยายขอบเขตของธุรกิจไปเป็นการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ Retro ให้กับกลุ่ม Organizer event สำหรับการจัดงานต่าง และสำหรับรายการทีวี เพิ่มเติมอีกด้วย

กรณีศึกษา Old baby สะท้อนให้เห็นโมเดลธุรกิจที่สร้างความแตกต่างของตัวสินค้ากับคุณค่า การหวนคิดถึงอดีตแต่ใช้ได้ร่วมสมัยกับยุคปัจจุบัน เป็นคุณค่าทั้ง Function การใช้และคุณค่าทางใจไปควบคู่กัน

(เครดิต : กรณีศึกษาโดย คุณสุรเดช เดชขจรยุทธ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)