พื้นที่สีเขียวสร้าง "Economic Value"

พื้นที่สีเขียวสร้าง "Economic Value"

อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่”จักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล”ประกาศนโยบายชัดเจนว่า เขาต้องการนำที่ราชพัสดุ

ส่วนหนึ่งหรือในส่วนที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ไปพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่ทำประโยชน์เชิงสังคม มากกว่ามุ่งเน้นพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ และสำหรับพื้นที่ราชพัสดุใดที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว จะเข้าไปพัฒนาเพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พื้นที่นั้นๆ

เขามีแผนจะดึงพื้นที่ราชพัสดุที่เคยมอบให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์เชิงสังคม แต่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ นำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสวนธารณะรกร้าง ไม่มีประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์หรือเต็มศักยภาพ โดยจะดึงกลับมาพัฒนาเองหรือมอบให้ภาคเอกชนที่มีจิตสาธารณะนำไปพัฒนา

เขาบอกว่า การนำที่ราชพัสดุไปให้เอกชนเช่าเพื่อสร้างตึกขนาดใหญ่หรือสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์นั้น ไม่ถือว่า คุ้มค่า เทียบเท่ากับ การนำที่ราชพัสดุไปทำพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนเมือง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางอ้อมให้กับระบบเศรษฐกิจ หรือ Economic Value

ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยต่อปีสำหรับการนำที่ราชพัสดุเปิดให้ประชาชนและภาคเอกชนเช่านั้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่เมื่อมีพื้นที่สีเขียวแล้ว พื้นที่โดยรอบจะมีมูลค่าสูงขึ้น เพราะการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตาม ซึ่งในที่สุด เมื่อพื้นที่เกิดการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวขึ้น รัฐก็จะมีรายได้มากขึ้นจากภาษีที่เก็บได้มากขึ้น ซึ่งในหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีลักษณะเช่นนี้ คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และเป็นทิศทางของการพัฒนาในหลายประเทศ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเรา

แม้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวอาจประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ยาก และแน่นอนว่า มูลค่าที่ว่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็ววัน แต่มูลค่าทางจิตใจของประชาชนในพื้นที่จะเกิดขึ้นทันที เพราะสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวจะช่วยลดความตึงเครียดจากหน้าที่การงานและปัญหาต่างๆในชีวิต การรวมตัวเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย จัดนิทานหรือดนตรีในสวน เหล่านี้จะช่วยลดปัญหาสังคม สร้างความสามัคคีและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าของตัวเงินได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ หลายผู้บริหารระดับสูงกรมธนารักษ์หรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารกระทรวงการคลังในอดีตก็เคยพยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่เพราะนโยบายที่ไม่ชัดเจนและต่อเนื่อง ผลสุดท้ายก็เป็นอย่างที่เห็น ขณะที่ สวนสาธารณะในเมืองหลายแห่งกลับกลายเป็นพื้นที่ที่เอกชนลงทุนสร้าง แม้จะช่วยในแง่ต้นทุนของภาครัฐ แต่หากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีศักยภาพเข้ามาเป็นตัวหลักในเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นทิศทางที่ดี

เมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่วางเป้าหมายเช่นนี้ เราก็เริ่มมีความหวัง และ หวังที่จะเห็นหลายฝ่ายให้การสนับสนุน เพราะต้องการเห็นพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้าง "Economic Value" ที่ยั่งยืนให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย