อำลา 2557 สู่เส้นทาง....ที่ไม่แน่นอน!

อำลา 2557 สู่เส้นทาง....ที่ไม่แน่นอน!

"วันสุดท้ายของปี 2557 สิ้นสุดลงในวันนี้...เป็นสัจจธรรมที่แน่นอนอย่างเดียว

เพราะตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน"

หากจะถามว่าอะไรที่น่าห่วง ระหว่างเรื่องเศรษฐกิจ กับการเมือง...แน่นอนเรื่องการเมือง ช่างน่าห่วงใยยิ่ง

เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะไม่ค่อยดีนัก แต่โดยเฉลี่ยทุกสำนักลงความเห็นตรงกันว่าอัตราการขยายตัวระดับ 4%ก็น่าจะโตได้ไม่ยาก เนื่องจากปี 2557 ฐานต่ำ เท่ากับว่าแม้ไม่ได้ดำเนินการอะไร เศรษฐกิจก็สามารถขยายตัวได้ แต่หากจะถามว่า"ยั่งยืน"หรือไม่...หากไม่มีการปรับโครงสร้าง "คงยาก" เพราะต้องอย่าลืมว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยังคงพึ่งพาต่างประเทศถึง 70%จีดีพีต้องอาศัยการส่งออก เป็นหลัก

ที่สำคัญมีการประเมินกันว่า ปี 2558 การส่งออกของไทย น่าจะขยายตัวระดับ 1%เท่านั้น จากปีนี้อาจจะไม่ขยายตัวเลย หรือโต 0%

เนื่องจากตั้งแต่ 2557 ถึง ปี 2558 เศรษฐกิจโลก โดยรวมไม่ดีมากนัก ไม่ว่าจะเป็นฝังยุโรป เอเชีย อาจจะมีเพียงสหรัฐที่ดูจะโดดเด่นกว่าซีกโลกอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ก็ไม่ได้การันตีว่าส่งออกไทยจะได้รับอานิสงส์ เหตุเพราะเอกชนไทยยังผลิตสินค้าเดิมๆ เช่นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ตลาดโลกความต้องการได้เปลี่ยนไปแล้ว ตลาดมุ่งไปทาง สมาร์ทโฟน แต่อุตสาหกรรมของไทย ยังไม่ได้ขยับไปทางด้านนี้

ในมุมมองของ ธนาคารแห่งประเทศ ที่เกาะติดเรื่องนี้ ประเมินว่าการส่งออก ยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีปัจจัยลบเรื่องการชะลอตัวของอุปสงค์จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ เช่น ปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้า 11 เดือนแรกหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลกระทบจากการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี(จีเอสพี) ของกลุ่มประเทศยุโรปที่เริ่มในเดือนม.ค.2558 เป็นเดือนแรกนั้น เชื่อว่าผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยมีน้อยมาก เพราะไม่ได้กระทบสินค้าทุกประเภท แต่กระทบในบางกลุ่ม เช่น อาหารกระป๋อง รองเท้า

เท่ากับว่า ปี 2558 ส่งออก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ"หวังได้ยาก"

และหากจะหวังการอุปโภคบริโภค ก็คงยากเช่นกัน เพราะโดยร่วมแล้วหนี้ภาคครัวเรือน ยังอยู่ระดับสูง โดยไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ผ่านมา โดยมียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 10.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมอยู่ที่ 9.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.58 แสนล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 7.72%

อีกทั้งรายได้เกษตรกร หดตัวค่อนลงอย่างมาก อันเนื่องมากจากสินค้าหลายชนิดราคาทรุดตัวลงตามตลาดโลก ยางพาราที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น จีน และมาเลเซีย ลดคำสั่งซื้อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนข้าว ราคาลดลงหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

สำหรับด้านการลงทุนภาครัฐ ยังคงยากที่จะเห็นผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญกระบวนการเบิกจ่าย ขั้นตอนพิจารณางบประมาณ ที่เป็น"คอขวด"มาโดยตลอด เชื่อว่ายังคงเป็นปัญหาในปี 2558

หากจะให้สรุปแล้ว ตัวแปรด้านเศรษฐกิจ ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และหวังได้ยากสำหรับปี 2558

ส่วนปัจจัยการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจด้วยนั้น ...ปี 2558 แรงกดกัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจะรุนแรงมากขึ้น ในภาวะที่ รัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังคงวุ่นและหาโมเดล การปฏิรูปที่เหมาะสมกับประเทศไทย

โมเดลประเทศ...ในภาวะที่ไม่แน่นอน และไม่ปกติ!