The Marshmallow Test

The Marshmallow Test

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักศึกษาปริญญาโทของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มาสัมภาษณ์ผมเพื่อทำรายงาน

เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยอิงอยู่กับแนวความคิดที่มีการศึกษามานานและได้รับการเขียนเป็นหนังสือขายดีชื่อ “Don’t Eat The Marshmallow Yet” หรือ “หยุด อย่าเพิ่งรีบกินแมร์ชแมลโลว!” หัวใจของคำถามส่วนใหญ่อยู่ที่ว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์คิดว่าในช่วงเด็กตนเองมีนิสัยที่ชอบ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือยอมเสียสละความพึงพอใจในวันนี้เพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากกว่าในวันข้างหน้าแค่ไหน? หลังจากการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น ซึ่งผมรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยว่ามันเป็นนิสัยที่เป็นจริงกับผมมาก แต่หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จนกระทั่งผมได้พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งบนแผงหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้ชื่อ “The marshmallow Test” ผมจึงซื้อมาอ่านเพื่อดูว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมการกินแมร์ชแมลโลวมาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องของจิตวิทยาแห่งความสำเร็จ และสิ่งที่ผมพบก็คือ มันน่าจะเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะในกรณีของความสำเร็จของการเป็นนักลงทุนแบบ VI ลองมาดูกันว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน?

การทดลองที่เรียกว่า “Marshmallow Test” นั้น เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 หรือประมาณ 50 ปีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดโดยผู้ที่เป็นกลุ่มทดลองก็คือเด็กก่อนอนุบาลที่โรงเรียนเด็กเล็กของมหาวิทยาลัย เด็ก ๆ ที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับโอกาสที่จะเลือกว่าจะได้รางวัล 1 ชิ้น (ตัวอย่างเช่น แมร์ชแมลโลว ซึ่งเป็นขนมหวานที่เด็กมักจะชอบกินมาก) ซึ่งเขาจะได้รับทันที หรือรางวัลที่ใหญ่ขึ้น (แมร์ชแมลโลว 2 ชิ้น) แต่เขาจะต้องรอในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที เด็ก ๆ จะมีโอกาสเลือกว่าเขาอยากได้อะไรที่สุด เช่น คุกกี้ เพรสเซล หรือลูกอม เป็นต้น ซึ่งในกรณีของเด็กหญิง “เอมี” ที่ยกขึ้นมาเขียนเป็นหนังสือก็คือ แมร์ชแมลโลว

วิธีการทดลองก็คือ เอมีจะต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะในห้องคนเดียว ข้างหน้าของหนูน้อยจะมีแมร์ชแมลโลว1 ชิ้นอยู่ทางมุมหนึ่งที่เอมีจะสามารถกินได้ทันที และแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นอยู่อีกมุมหนึ่งที่เธอจะได้กินถ้ารอ ข้าง ๆ โต๊ะจะมีกริ่งที่เอมีจะสามารถกดเรียกนักวิจัยกลับเข้ามาทันทีถ้าเธอต้องการกินแมร์ชแมลโลว 1 ชิ้น หรือถ้าเอมีรอจนกระทั่งนักวิจัยกลับเข้ามาเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที เธอก็จะได้กิน 2 ชิ้น ห้องที่ใช้ทดลองนี้จะมีกระจกทึบที่มองเข้ามาได้จากภายนอกที่นักวิจัยจะสามารถสังเกตอากัปกริยาของเด็กได้ตลอดเวลา พวกเขาจะเห็นว่าเด็กที่นั่งรออยู่นั้นทำอย่างไรที่จะพยายามอดกลั้นยับยั้งจิตใจไม่ให้กดกริ่งเพื่อที่จะได้กินแมร์ชแมลโลวมากขึ้น

ผลของการทดลองที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถรอที่จะกินแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นได้ บางคนนั้น นักวิจัยยังไม่ทันก้าวพ้นประตูเด็กก็กดกริ่งแล้วเพราะต้องการกินขนมหวานทันที ความพยายามของเด็กบางคนที่จะอดกลั้นยับยั้งการกดกริ่งนั้น บางทีทำให้นักวิจัยแทบจะ “น้ำตาไหล” เพราะรู้สึกสงสารเด็ก วิธีการที่เด็กแต่ละคนใช้ในการ “สะกดใจ” ตนเองไม่ให้อยากกินแมร์ชแมลโลวทันทีนั้นหลากหลายมากและพวกเขาแสดงออกทางอาการต่าง ๆ เช่นอาจจะปิดตา เอนไปข้างหลัง เบือนหน้าหนีหรือกอดอก รวมถึง จินตนาการว่าแมร์ชแมลโลวนั้นเหมือนปุยเมฆที่ “กินไม่ได้” เป็นต้น

สิ่งที่เด็กเล็กอายุแค่ 4-5 ขวบทำในขณะที่พวกเขารอและวิธีการที่พวกเขาจัดการหรือไม่จัดการที่จะชะลอความพึงพอใจที่จะได้รับนั้น โดยที่ไม่คาดคิด กลายเป็นสิ่งที่กำหนดหรือพยากรณ์ชีวิตในอนาคตของพวกเขา แต่ละนาทีที่พวกเขารอได้นั้น สะท้อนออกมาเป็นคะแนนสอบ SAT ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้ในการรับเด็กเข้าเอนทร้านซ์ที่สูงขึ้น วินาทีในการรอที่มากขึ้นสะท้อนถึงความสามารถในการเข้าสังคมและการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่ดีขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่อายุ 27-32 ปี ซึ่งนักวิจัยได้ติดตามเด็กเหล่านั้นพบว่า เด็กที่สามารถรอได้นานกว่าในการทดสอบแมร์ชแมลโลวมีดัชนีมวลกายที่ดีกว่าคนที่ได้คะแนนที่แย่กว่า พวกเขายังมีความรู้สึกที่ดีกับตนเองมากกว่าและสามารถปรับตัวเพื่อรับกับความเครียดต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีกว่า จากการสแกนสมองของพวกเขาพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการ “ติด” สิ่งต่าง ๆ และความอ้วนสำหรับคนที่ได้คะแนนการทดสอบต่างกัน

การศึกษาต่อมาของผู้เขียนและวิจัยคือ Walter Mischel ยังพบว่า ระบบการ “ควบคุมตนเอง” ต่อสิ่งเร้าหรือความอยากของคนเรานั้นมีสองระบบนั่นคือ ระบบ “ร้อน” และระบบ “เย็น” โดยระบบร้อนนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นสัญชาตญาณมากกว่า ในขณะที่ระบบเย็นนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นเหตุผลและความนึกคิดมากกว่า คนที่สามารถใช้หรือบังคับให้ตนเองใช้ระบบเย็นได้มากกว่านั้นจะสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและถูกต้องกว่า การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองใช้ระบบร้อนและตัดสินใจโดยอิงกับเหตุการณ์หรือแรงกระตุ้นเฉพาะหน้านั้น เราจะต้องมองไปในอนาคตและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตัดสินใจทำอะไรในตอนนี้ พยายามให้เห็นภาพของเราในสถานการณ์ภายหน้า ตัวอย่างเช่น ถ้าเราติดบุหรี่และกำลังอยากสูบ เราก็จะต้องจินตนาการให้เห็นภาพของตัวเรา อาจจะ5-6 ปีข้างหน้าที่เราอาจจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือเป็นโรคมะเร็ง ที่มีความเจ็บปวดทรมานสูงอย่างที่เห็นบนซองบุหรี่ อย่างนี้เป็นต้น และเมื่อเราคิดและจินตนาการแบบนี้ ระบบเย็นก็จะเข้ามาแทนที่ระบบร้อน และก็จะทำให้เราไม่อยากสูบบุหรี่และในที่สุดก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ และนี่ก็คงคล้าย ๆ กับเด็กเล็กที่พยายามจินตนาการว่า แมร์ชแมลโลวนั้นคล้ายก้อนเมฆที่กินไม่ได้ ดังนั้น เขาก็ไม่อยากกินมัน

ความสามารถในการอดกลั้นต่อสิ่งที่ยั่วเย้าหรือเลื่อนการบริโภคความพึงพอใจในปัจจุบันเพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากขึ้นในอนาคตนั้น จะมีผลต่อความสำเร็จของชีวิตของคนในอาชีพไหนมากน้อยแค่ไหนผมเองก็ไม่แน่ใจนัก เหตุเพราะว่าคงไม่ใคร่มีคนสามารถศึกษากรณีชีวิตจริงได้มากนัก เพราะมันต้องใช้เวลาติดตามเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะได้ข้อมูลของตัวอย่างซึ่งก็มักจะมีไม่มากนัก แต่โดยส่วนตัวนั้น ผมเชื่อว่ามันน่าจะมีผลต่อการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะในแบบ VI ที่ต้องเน้นการลงทุนระยะยาว เมื่อลองคิดย้อนหลังไป ผมเองรู้สึกว่าตนเองนั้น เลื่อนการบริโภคความพึงพอใจมาตลอดเพื่อหวังที่จะได้สิ่งที่พึงพอใจมากกว่าในอนาคตและนี่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ผมเป็นคนประหยัดและใช้เงินทุกอย่างเฉพาะที่จำเป็นเพื่อเก็บเงินแต่ก็ไม่ได้เก็บไว้เฉย ๆ เอาเงินมาลงทุนค้าขายหรือทำ “ธุรกิจ” ตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้น ผมลงทุนเป็น “แรง” และ “เวลา” ในการเรียนและการศึกษาด้วยตนเองเป็นจำนวนมากเพื่อหวังว่ามันจะช่วยให้ผมทำเงินและประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคต การเลื่อนการบริโภควันนี้เพื่อการที่จะได้บริโภคมากขึ้นในวันข้างหน้านั้น แท้ที่จริงมันก็คือนิยามหรือ “หัวใจ” ใจของการลงทุน ดังนั้น คนที่มีแนวโน้มหรือทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจจะหมายความว่าเขามีมันอยู่ในยีนส์จึงน่าจะมีความได้เปรียบเมื่อเขาโตขึ้นและจะต้องลงทุนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนในด้านการเงินเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กเพราะยีนส์ก็คือ นิสัยหรือความสามารถที่จะอดทนและควบคุมตัวเองได้ต่อสิ่งยั่วเย้านั้น อาจจะสามารถสร้างขึ้นได้ เรื่องนี้อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ผมคิดว่าไม่เสียหายที่จะทำ สิ่งที่ผมคิดว่าเราน่าจะฝึกฝนได้นั้นอยู่ที่ความเป็นจริงของเรื่องพฤติกรรมในเรื่องต่าง ๆ ที่มีการศึกษามามากนั้นบ่งชี้ว่า นอกจากเรื่องของยีนส์แล้ว สภาวะแวดล้อมและการฝึกฝนมีส่วนกำหนดอุปนิสัยและพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ อาจจะถึงครึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 30%-40% ขึ้นไป ดังนั้น สำหรับเด็กหรือคนที่สอบตก “Marshmallow Test” โอกาสที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้นั้นมีแน่นอน และผมเชื่อว่านี่เป็นทักษะที่มีประโยชน์และจำเป็นโดยเฉพาะสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และนั่นก็คือ การใช้ “ระบบเย็น” ในการลงทุนแทนที่ “ระบบร้อน” ที่มักจะทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็วและไม่ถูกต้อง