หน้าที่แค่ชั่วคราว....อำนาจอย่ากุมไว้นาน!

หน้าที่แค่ชั่วคราว....อำนาจอย่ากุมไว้นาน!

"สำรวจเมื่อวันรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 หรือจะผ่านมา 2 เดือน ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมของ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อัตราค่อนข้างสูง เหตุผลสำคัญเพราะประชาชน เบื่อกับความขัดแย้ง และทิศทางประเทศในวันข้างหน้า ที่ยังไม่เห็นอนาคต"

แต่อย่าลืมหัวใจเหตุผลที่ประชาชน ส่วนใหญ่ยินยอม"ขายเสรีภาพ"... เว้นวรรคประชาธิปไตย สนับสนุน คสช.นั้น เขา"เชื่อ"ว่า มาทำหน้าที่เพียงชั่วคราว ก่อนปล่อยมือนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ..ไม่ได้มอบ สิทธิ์และอำนาจ ไม่ใช่เข้ากุมอำนาจ สร้างเครือข่ายใหม่

แม้ประธาน คสช. จะประกาศโรดแมพ3ระยะชัดเจน ว่าประมาณ1ปีคาดว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ในคำแถลงเกือบทุกครั้ง มีปัจจัย ตัวแปรแฝงอยู่เป็นเงื่อนไข ..ยิ่งได้ยินบางท่านประเมินสถานการณ์ อาจจำเป็นต้องใช้เวลา2-3ปีก่อนการเลือกตั้งด้วยแล้ว หากจริงตามนั้น"น่าห่วง"

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "เครือเนชั่น" ไว้น่าสนใจ บอกว่าสิ่งที่จะเป็นจุดเปราะบางของ คสช. หลังจากนี้ไปคือ เรื่องความโปร่งใส เพราะมองว่าการที่ คสช.ได้เสียงสนับสนุนจากสังคมอย่างมากในระยะแรก ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเกิดจากสถานการณ์ที่คนไม่เห็นทางออก พอ คสช.เข้ามาทำให้จบ คนก็ย่อมเกิดความพึงพอใจ และระยะที่ 1 ก็ทำได้ดี แต่อีกปีข้างหน้าค่อยมาว่ากันว่าจะรักษาระดับอย่างนี้ไว้ได้หรือไม่ และสิ่งที่จะเป็นจุดเปราะบางของ คสช. หลังจากนี้ไปคือ เรื่องความโปร่งใส

ความโปร่งใส...ถือว่าเป็นตัวแปรของทุกรัฐบาล ทั้งที่มาจากเลือกตั้งและรัฐประหาร ยิ่งในระยะหลังประชาชน ภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งนั้นคือรังเกียจ คอร์รัปชัน แน่นอนในระยะ2เดือนกว่า คสช.ยังไม่มีจุดด่าง ให้เห็น แต่ในระยะยาวซึ่งมีแนวโน้มว่าจะบริหารประเทศ1ปีเป็นอย่างน้อย จำเป็นต้องสร้าง"ระบบ"เพื่อมาถ่วงดุลการบริหารงาน

เพราะต้องอย่างลืมว่า ด้วยที่มาและบุคคล ในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นั้น อยาก!ที่จะทำหน้าที่"ตรวจสอบอย่างเข้มข้น"

ทางออก...เพื่อความเชื่อมั่นและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ!

คสช.ต้องดึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาคเอกชน มาร่วมตรวจสอบ โครงการของรัฐ

คสช.ต้องรื้อพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้น

คสช.ต้องเปิดให้สื่อ ได้มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งอยากเห็นการปรองดองหรือปฏิรูปด้วยแล้ว "ความเห็นเห็นต่าง..จำเป็น"

ฯลฯ

หากคสช.ทำได้ตามนี้"จุดเปราะบางของ คสช. เรื่องความโปร่งใส...ก็เบาใจไประดับหนึ่ง"

ซึ่งหากเป็นได้เช่นนี้ ไม่เฉพาะบรรยากาศทางการเมืองเท่านั้น ภาพเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ก็น่าจะดีขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกติดลบไป0.1%เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงห้าเดือนแรกของปี การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของการส่งออก และการหดตัวต่อเนื่องของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังหดตัว

"อำนาจขึ้นง่าย...แต่ลงยาก"....

ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าประโยคนี้ ยังเป็นจริงในปัจจุบันอีกหรือไม่?