โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (2)

โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (2)

จากตอนที่ผ่านมาผมก็ได้พูดถึงการกำหนดอัตราภาษี ทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาล

รวมไปถึงการกำหนดอัตรากองทุนน้ำมันที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซินและกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอลไปแล้วครับว่ามีวิธีการคิดและกำหนดอย่างไรและทำไมถึงไปทำให้ราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลชนิดต่างๆ นั้นแตกต่างกัน

ในตอนนี้ผมก็จะมาพูดถึงโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลกันบ้าง ซึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลนั้นก็เป็นโครงสร้างเดียวกันกับโครงสร้างของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล นั่นเอง แต่ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลนั้นสามารถที่จะปรับขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์ของราคาตลาด แต่น้ำมันดีเซลนั้นกลับถูกตรึงไว้อยู่ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท

ซึ่งเมื่อเราเข้าไปดูโครงสร้างของราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันแล้วจะเห็นว่ามีการเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากๆ โดยในอดีตนั้นเรามีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ในอัตราลิตรละ 5.31 บาท แต่ก็ได้มีการปรับลดเหลือ 0.005 บาทต่อลิตรตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เป็นต้นมา ก็เพื่อที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

โดยก่อนหน้าที่จะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงนั้น รัฐได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งในวันก่อนที่จะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงนั้น (วันที่ 20 เมษายน 2554) รัฐได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปชดเชยน้ำมันดีเซลที่ในขณะนั้นมีน้ำมันดีเซลอยู่สองประเภทคือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งรัฐชดเชยในอัตราลิตรละ 6 บาท และน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลอยู่ร้อยละ 5 หรือที่เราเรียกกันว่าน้ำมันไบโอดีเซล B5 นั้นรัฐก็ได้ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยอยู่ลิตรละ 4.05 บาทซึ่งการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยนั้นได้ไปทำให้สถานะของกองทุนน้ำมันในช่วงนั้นลดลงจากเดิมที่สถานะเป็นบวกอยู่จนกลายเป็นติดลบ

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระเงินกองทุนน้ำมันซึ่งมีสถานะที่ย่ำแย่และถูกมองว่าจะเอาไม่อยู่ รัฐจึงได้ใช้วิธีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือเพียงลิตรละ 0.005 บาทในน้ำมันดีเซลทั้งสองประเภท จากที่เก็บอยู่ที่ 5.31 บาทต่อลิตรในน้ำมันดีเซลธรรมดาและ 5.04 บาทต่อลิตรในน้ำมันไบโอดีเซล B5 ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่นี้ก็แทบจะเหมือนกับไม่เก็บเลยนอกจากนี้ ก็ได้ปรับลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันจากที่ชดเชยลิตรละ 6 บาทในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเหลือชดเชยลิตรละ 0.1645 บาท และลดการชดเชยน้ำมันไบโอดีเซล B5 จากลิตรละ 4.05 บาทไปเป็นเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราลิตรละ 1.4885 บาท

ต่อมาในปี 2555 รัฐก็ได้มีการกำหนดให้มีน้ำมันดีเซลเหลือเพียงชนิดเดียวโดยเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 3 - 5 ซึ่งสัดส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับการกำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งในการกำหนดให้เหลือน้ำมันดีเซลเพียงหนึ่งชนิดนี้ก็ยังคงมีการตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และยังคงกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตไว้ที่ 0.005 บาทต่อลิตรไว้เช่นเดิม

จริงๆ แล้วรัฐนั้นตั้งใจที่จะลดภาษีสรรพสามิตในระยะสั้นเท่านั้น โดยจะเห็นว่ามีกำหนดระยะเวลายกเว้นภาษีสรรพสามิตเป็นระยะเวลาเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ต่อมาเนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับหากมีการกลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตเหมือนเดิมก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด รัฐจึงได้มีการขยายระยะเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตออกไปเรื่อยๆ และก็ยังเป็นผลมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อไม่มีภาษีสรรพสามิต และยังต้องมีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงต้องมีอะไรสักตัวหนึ่งเพื่อมาคอยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ซึ่งเมื่อไปดูในโครงสร้างราคาน้ำมันแล้วก็จะเห็นว่าเหลือแต่เพียงกองทุนน้ำมันเท่านั้นที่รัฐจะเข้าไปบริหารจัดการได้ โดยผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันหรือเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันก็คือคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (หรือ กบง.) ซึ่งในอดีตนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน แต่ ณ ปัจจุบันตำแหน่งประธานก็ถูกเปลี่ยนเป็นรองหัวหน้า คสช. (หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ) ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 55/2557

ในการพิจารณาที่จะใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายปัจจัย เช่น ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซล เพราะค่าการตลาดนี้ก็เหมือนกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของทั้งผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันบวกกับผลตอบแทนอีกเล็กน้อย ซึ่งรัฐก็ได้มองว่าอัตราที่เหมาะสมนั้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกนั้นยังคงเท่าเดิม ก็จะไปทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลลดลงเหลือน้อยกว่า 1.50 บาทต่อลิตร กบง. ก็จะเข้ามาพิจารณาว่าจะลดอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเหลือเท่าไรจึงจะทำให้ค่าการตลาดนั้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.50 บาทต่อลิตร

แต่ทั้งนี้ก็จะต้องไปพิจารณาสถานะกองทุนน้ำมันประกอบด้วยว่าจะสามารถรับได้เท่าไร หรือหากราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นลดลง ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลก็จะปรับตัวสูงขึ้น กบง. ก็อาจจะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าอัตรากองทุนน้ำมันในโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลนั้นจะเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ