การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล

การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ มีประเด็นที่สมควรนำมาวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือผิดพลาดตามหลักเหตุผลหรือไม่อย่างไร ?

มีหลักการโต้เถียงอย่างหนึ่งที่ผิดหลักเหตุผลที่เรียกว่า Argumentum ad Hominem ซึ่งเป็นข้อบกพร่องชนิดหนึ่งในการกล่าวอ้างโจมตีฝ่ายตรงข้าม นั่นคือ โจมตีไปที่เงื่อนไขส่วนตัวของคนคนนั้นแทนที่จะพิสูจน์หักล้างความจริงของข้อความหรือความสมเหตุสมผลของการกล่าวอ้างของคนคนนั้น ตัวอย่างเช่น

อาจารย์ ก. กล่าวติง อาจารย์ ข. ว่า “คุณโหดกับนักเรียนเกินไป” อาจารย์ ข. ตอบกลับว่า “คุณไม่มีสิทธิ์จะพูดกับผมเช่นนั้น เพราะเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ได้ยินนักเรียนหลายคนในวิชาของคุณก็บ่นแบบนี้เหมือนกัน”

ถ้าถามว่า ข้อโจมตีทางการเมืองใดที่เข้าข่ายบกพร่องตามตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมา หนึ่งในหลายเรื่องน่าจะได้แก่ตัวอย่างที่เก่าแล้ว ได้แก่ “เราไม่รับสิ่งที่ทักษิณวิจารณ์นโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์ เพราะตัวทักษิณเองก็โดนวิจารณ์เรื่องประชานิยมมาก่อนเหมือนกัน”

ตัวอย่างนี้ คล้ายคลึงกับ ตัวอย่างเรื่องอาจารย์สองคน แน่นอนว่า เป็นไปได้ว่า เจตนาของอาจารย์ ข. ในการพูดกับอาจารย์ ก. เช่นนั้น อาจจะไม่ใช่เป็นเจตนาดี แต่การตอบโต้ของ อาจารย์ ก. ก็ไม่ถูกต้องและผิดหลักการ เพราะการตอบโต้ที่ดีคือ พยายามหักล้างหรืออธิบายเหตุผลของตนต่อข้อวิจารณ์ที่ตนได้รับ การที่อาจารย์ ก. ตอบกลับแบบนั้นไม่เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ใดๆ เช่นเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าทักษิณอาจจะไม่ได้มีเจตนาดีต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ และพยายามหาเรื่องถล่มประชานิยมของประชาธิปัตย์ เพราะต้องการแก้แค้นที่นโยบายประชานิยมของตนเคยถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง (แต่ยากที่เราจะพิสูจน์สิ่งที่อยู่ในใจคนได้ !) แต่การตอบโต้ที่ถูกต้องคือ ต้องอธิบายว่า นโยบายประชานิยมของตนแตกต่างจากประชานิยมของทักษิณที่ประชาธิปัตย์เคยวิจารณ์ไว้อย่างไร หรืออธิบายว่า สถานการณ์ขณะนี้แตกต่างจากสถานการณ์ในสมัยทักษิณอย่างไร เป็นต้น

ประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ควรพยายามเรียกร้องให้คนของฝ่ายตนอธิบายในแนวทางดังกล่าว หากไม่สามารถอธิบายหรือให้เหตุผลได้ ข้อวิจารณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งก็สมควรเป็นข้อวิจารณ์ที่ยอมรับได้ แทนที่จะปฏิเสธข้อวิจารณ์เพียงเพราะ “พวกเขามีเจตนาร้าย” เพราะการโจมตีอย่างมีเหตุมีผลจากศัตรูน่าจะดีกว่าการชื่นชมอย่างไร้เหตุผลของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นมิตร

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งก็เก่าแล้วเหมือนกันคือ “เรื่องปัญหาเศรษฐกิจปล่อยให้เด็กสองคนแก้ไม่ได้หรอก”

หลายปีมาแล้ว ทักษิณเน้นไปที่ “ความเป็นเด็ก” ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและกรณ์ จาติกวณิช เห็นได้ชัดว่าเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่ได้มุ่งไปที่แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่ากับชี้ไปที่อายุของสองคนนั้นที่อ่อนกว่าทักษิณ ความเป็นเด็กกว่าของทั้งสองนั้นเป็นคุณลักษณะส่วนตัวเมื่อเปรียบเทียบกับอายุของทักษิณ ถ้าพิจารณาให้ดี อภิสิทธิ์และกรณ์ก็อายุปาเข้าไปสี่สิบกว่าแล้ว แต่คำวิจารณ์ที่ฝ่ายคู่แข่งใช้โจมตีก็เป็นเรื่องหน้าอ่อนและอายุน้อย ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ทักษิณก็ต้องเลิกวิจารณ์โดยอ้างเรื่องอายุ และเช่นเดียวกันกับการวิพากษ์โจมตีความแก่เฒ่าของคนที่เข้ามาแสดงจุดยืนทางการเมือง ควรดูที่เหตุผลมากกว่าจะโจมตีไปที่ความแก่

หรือ “คำวิจารณ์เรื่อง (อะไรก็ตาม) ของคุณไม่มีวันถูกต้องโดยเด็ดขาด เพราะคุณเป็นพวกเสื้อเหลือง/แดง”

หรือ คำวิจารณ์ที่ว่า “กปปส. หรือ นปช. ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนแท้ๆ” แต่คำโต้กลับเป็นว่า “พี่น้องรู้ไหมว่า นักวิชาการคนที่ด่าว่าเราแบบนั้นชอบหากินกับการวิจัย และอาจารย์ที่สอบวิทยานิพนธ์มันยังเคยขอบุหรี่กูสูบและขอยืมเงินกูเลย แถมมันยังรับเงิน....อีกด้วย”

การวิเคราะห์ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่เข้าข่าย argumentum ad hominem เพราะแทนที่จะตอบโต้คำวิจารณ์ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า การเมืองภาคประชาชนคืออะไร ? คุณเข้าใจตรงกับผมหรือไม่ ? และผม (นปช./กปปส.) เข้าข่ายการเมืองภาคประชาชนหรือไม่อย่างไร? ไม่ใช่ไปตอบโต้ว่า สิ่งที่เขาวิจารณ์ไม่ถูกเพราะเขาชอบหากินกับการวิจัยหรืออาจารย์ของเขายังขอบุหรี่คนอื่นสูบ หรือพยายามหาจุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งในตัวเขา

อนึ่ง คนทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเราไม่ยอมรับฟังด้วยเหตุผลเพียงว่า เขาไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องจึงไม่มีสิทธิ์มาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำอันไม่ดีของคนอื่น ก็แปลว่า ไม่มีใครวิจารณ์ใครได้เลย

หรือ “ชนชั้นกลางในเมืองวิจารณ์คนในชนบทว่าขายเสียงและใช้เงินกองทุนหมู่บ้านไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์”

การวิเคราะห์ หากพี่น้องรากหญ้าไม่ยอมรับฟังข้อวิจารณ์ดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า ชนชั้นกลางมีฐานะดีกว่า และดูถูกคนที่จนกว่า อย่างนี้ก็เข้าข่าย argumentum ad hominem อีกเช่นกัน เพราะแทนที่พี่น้องรากหญ้าจะหักล้างด้วยการแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ขายเสียงและไม่ได้ใช้เงินกองทุนหมู่บ้านไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ หรืออธิบายถึงความจำเป็นในการขายเสียงด้วยความยากจนจำเป็นจริงๆ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้เลย และหากชนชั้นกลางเกิดยากจนมา จะยังยืนยันไม่ขายเสียงอยู่ต่อไปหรือเปล่า อย่างนี้ดูเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าจะไม่ยอมรับเพียงเพราะคนวิจารณ์เป็นชนชั้นกลางฐานะดี