ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (4)

ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (4)

การพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาตินั้น ประเด็นสำคัญที่นำมาคำนึงถึงก็คือเรื่องของความเชื่อถือได้ของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เราคาดว่าจะสามารถจัดหาได้

เมื่อตอนที่แล้วผมได้พูดไปแล้วว่าการจัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในระยะยาวนั้น จะต้องทราบก่อนว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตในแต่ละปีนั้นจะเป็นอย่างไร โดยดูแยกไปในแต่ละภาคส่วนของผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ

สำหรับในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาตินั้น สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกก็คือเรื่องของการพึ่งพาตนเองก่อนว่าเราสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ขนาดไหน ซึ่งก็หมายถึงประเทศไทยเรามีก๊าซธรรมชาติอยู่เท่าไร มีการผลิตต่อวันอยู่เท่าไร และสามารถนำมาใช้ได้อีกกี่ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ก็จะมาจากข้อมูลการสำรวจและผลิตภายในประเทศของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

สำหรับก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศนั้นมีทั้งจากบนบกและจากอ่าวไทย ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแต่ละแหล่งนั้นก็จะมีการพิจารณาถึงปริมาณสำรองและปริมาณการผลิตต่อวันเพื่อที่จะให้สามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้ครบตามอายุสัญญาสัมปทานที่ผู้ผลิตได้รับ ดังนั้น การพิจารณาในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยจึงต้องมาดูว่าตลอดอายุสัมปทานของผู้ผลิตก๊าซแต่ละราย จะสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้วันละเท่าไร และจะไปหมดเอาปีไหน และเมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วแหล่งก๊าซแต่ละแหล่งจะยังสามารถพัฒนาต่อไปได้หรือไม่เนื่องจากมีศักยภาพเหลือ หรือว่าจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก โดยหากพบว่าแหล่งสัมปทานที่หมดอายุนั้นยังมีศักยภาพเหลือพอที่จะผลิตก๊าซธรรมชาติต่อไปได้อีกก็อาจจะต่อสัญญาสัมปทานต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

นอกจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้มีการผลิตอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็ยังต้องมาดูถึงว่าแล้วเรายังจะสามารถหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ที่คาดว่าน่าจะมีศักยภาพได้อีกหรือไม่ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันนั้นเมื่อมีการใช้แล้วก็จะต้องมีวันหมดไป ซึ่งหากดูจากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้นจะเห็นว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศในปัจจุบันนั้นก็ได้ขึ้นมาถึงจุดที่สูงที่สุดแล้ว และหลังจากนี้อีกสองสามปีปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้นี้ก็จะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเห็นได้ว่าทางกระทรวงพลังงานจึงได้พยายามที่จะให้มีการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมโดยให้มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ขึ้น ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหากเราไม่สามารถที่จะหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อทดแทนกับส่วนที่จะหมดไป ก็จะมีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ การที่เราไม่สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศเพิ่มเติมได้ก็จะหมายถึงเราจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไป

ดังนั้น จากที่ได้อธิบายข้างต้นจึงเห็นว่ารัฐมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่สำคัญสองส่วนอย่างเร่งด่วนคือ การพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุสัญญาและการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถที่จะรองรับกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จะลดลง และยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อไป

สำหรับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาตินั้นยังต้องมีการพิจารณาถึงการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศนั้นก็ไม่สามารถรองรับกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้น ประเทศไทยก็มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่แล้วคือก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่าและก๊าซ LNG โดยในส่วนของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศก็จะต้องมาพิจารณาว่าเราจะสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใดได้บ้าง นำเข้าในรูปแบบไหน เริ่มนำเข้าได้ในปีไหน และใช้ไปได้อีกกี่ปี

โดยปัจจุบันเรามีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าอยู่ประมาณวันละ 819 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน (ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2556 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) และสำหรับในปี 2557 นั้นก็จะมีการนำเข้าจากพม่าเพิ่มเติมจากแหล่งซอติก้า (M9) อีกประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เราก็ต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับความต้องการก๊าซธรรมชาติในส่วนที่เกินจากการผลิตจากในประเทศและการนำเข้าจากพม่ารวมกัน

สำหรับการพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาตินั้น ประเด็นสำคัญที่นำมาคำนึงถึงก็คือเรื่องของความเชื่อถือได้ของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เราคาดว่าจะสามารถจัดหาได้ นอกจากนี้ก็ต้องมาดูเรื่องของปริมาณและราคา ซึ่งราคาก๊าซ LNG นั้นจะสูงที่สุดเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศและราคาก๊าซธรรมชาติจากพม่า ดังนั้น การที่จะต้องนำเข้าก๊าซ LNG มากขึ้นก็จะหมายถึงราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ การพิจารณาที่จะจัดหาก๊าซธรรมชาติจึงจะต้องคำนึงถึงเรื่องของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติด้วยเช่นกัน