ทางออกที่ถูกปิด

ทางออกที่ถูกปิด

ถึงนาทีนี้ การเมืองไทยมีข้อเสนอใหญ่ 3 แนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางผู้เสนอก็เชื่อว่าจะเป็น "ทางออก" จากวิกฤตการณ์ความขัดแย้ง ณ ปี 2556

หนึ่ง คือ กปปส.และผู้สนับสนุน เสนอให้มี "สภาประชาชน" ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ (โดยเฉพาะการเมือง) ให้สำเร็จเสร็จสิ้น จากนั้นค่อยเลือกตั้ง โมเดลสภาประชาชนจะมีสมาชิก 400 คน ในจำนวนนั้น 300 คนมาจากการเลือกตั้งโดยบุคคลในกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ส่วนอีก 100 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ กปปส.เป็นผู้สรรหา

จุดยืนของ กปปส.และผู้สนับสนุนชัดเจนว่าการเลือกตั้งทั่วไป (อันสืบเนื่องจากการยุบสภา) ในวันที่ 2 ก.พ.2557 จะต้องเลื่อนออกไป

สอง คือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กปปส. นำโดย "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการสถาบันต่างๆ รวมทั้งนักคิด นักเขียนกว่า 150 คน กลุ่มนี้เสนอว่า การคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองต้องไม่ใช้ "วิธีพิเศษ" แต่ต้องเดินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย คือ จัดการเลือกตั้ง โดยอาจให้พรรคการเมืองเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศเป็นนโยบายหาเสียง เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยเริ่มกระบวนการปฏิรูป

สาม คือ ฝ่ายกลางๆ เช่น เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน เสนอให้เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปคู่ขนานไปกับการเลือกตั้ง โดยระหว่างนี้ให้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ปฏิรูป คัดเลือกตัวบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเข้าร่วม และทำงานปฏิรูปประเทศไป

ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปก็ยังคงมีเหมือนเดิม แต่เสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคลง "สัตยาบัน" ร่วมกันว่า รัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งจะมี "ภารกิจพิเศษ" คือปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอขององค์กรตั้งขึ้นมารับผิดชอบเท่านั้น จากนั้นจึงยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

จุดยืนฝ่ายกลางๆ คือ การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร และจะยิ่งขยายความขัดแย้ง ทำให้การเมืองไทยวนอยู่ในวงจรเดิมๆ

นี่คือ 3 ข้อเสนอที่หลายคนเรียกว่าเป็น "ทางออก" แต่ปัญหาคือ "ทางออก" ที่ว่านี้มีทางให้ออกจริงๆ หรือเป็นแค่ "ทางออกที่ถูกปิด"

เมื่อวานใครเฝ้าหน้าจอทีวี จะพบบทบาทการแถลงข่าวของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื้อหาคือการนำแถลงการณ์ของประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการเลือกตั้งในประเทศไทยมาอ่านให้ประชาชนฟัง

เกมนี้คือเกมเดิมที่เครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เล่นมาตลอด คือเกม "กอดความชอบธรรม" อันเป็นความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้ง และเป็นความชอบธรรมที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

ไม่ต่างอะไรกับตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 สิ่งที่เขาพยายามสื่อไปสู่ชาวโลกและตรงเป้ากว่าฝ่ายที่ทำรัฐประหาร คือ เขามาจากการเลือกตั้ง แต่กลับถูกบังคับให้ลงจากอำนาจด้วยรถถัง นี่คือความจริงและความเข้าใจของสังคมโลกที่ยากจะปฏิเสธได้

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังตอกย้ำความชอบธรรมของตนว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป แต่ก็ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วผ่านการยุบสภา และขอพิสูจน์อีกครั้งผ่านสนามเลือกตั้ง

โจทย์ที่ตอบยากของฝ่ายไม่เอารัฐบาล นำโดย กปปส. ก็คือ จะแสดงผลของความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลให้คนไทยและชาวโลกเข้าใจได้อย่างไร แม้ว่าความไม่ชอบธรรมได้พิสูจน์แล้วระดับหนึ่งผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และท่าทีของรัฐบาลเอง เช่น การประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล เป็นต้น

แต่ผลของความไม่ชอบธรรมนั้น จะพิสูจน์อย่างไรว่าประชาชนไม่เอาแล้วจริงๆ การอ้าง "มวลมหาประชาชน" ที่ออกมาชุมนุม ก็ถูกท้าทายจากอีกฝ่ายหนึ่งว่าผู้สนับสนุนรัฐบาลอาจมีปริมาณมากกว่า และในเมื่อคิดว่าคนไม่เอารัฐบาลชุดนี้มีมาก ทำไมถึงไม่ยอมไปเลือกตั้ง เพราะโอกาสชนะของฝ่ายต่อต้านก็ย่อมมี

ทว่าคนไทยเดินดินกินข้าวแกงไม่ว่าใครก็รู้ทั้งรู้ว่าโอกาสชนะเลือกตั้งของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลขณะนี้แทบไม่มี เพราะผู้คนจำนวนมากกว่าที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งยังยินดีและชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่าย ไม่ว่าจะด้วยผลของนโยบายประชานิยม หรือความเชื่ออื่นๆ

การพยายามใช้ "ทางลัด" ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำให้เกิดสุญญากาศของอำนาจโดยบีบให้นายกฯไม่รักษาการ การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป กำลังถูกมองจากอีกฝ่ายหนึ่งว่าเพราะเลือกตั้งแล้วแพ้ใช้ไหมถึงไม่อยากไปเลือกตั้ง

สรุปสุดท้ายก็คือ วิกฤติการเมืองไทยมีจริงหรือไม่ หรือทุกปัญหาในประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้วคนไทยยอมรับได้ ขอเพียงให้รัฐบาลเป็นคณะบุคคลที่ตนเองชื่นชอบก็พอ ส่วนการปฏิรูปเป็นเพียงข้ออ้าง อาจจะเช่นเดียวกับการให้เหตุผลของอีกฝ่ายที่ว่าการเลือกตั้งเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วเพราะในสนามเลือกตั้งตัวเองเป็นฝ่ายชนะตลอดนั่นประไร จึงพยายามให้ทุกปัญหาตัดสินกันที่การเลือกตั้ง

ทั้งสองมุมนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องช่วยกันตอบ...

วันนี้เราเห็น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปของ นพ.ประเวศ วะสี ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลมา 2 ปีไม่เคยพูดถึงเลย แม้ว่าโมเดลของหมอประเวศได้สรุปเสร็จเรียบร้อยมาเนิ่นนานแล้ว

ที่ผ่านมาเราได้ยิน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.พูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ ทั้งๆ ที่ตอนเป็นรัฐบาล 2 ปีกว่าก็ไม่เคยคิดปฏิรูป แถมยังปล่อยให้มีการหาผลประโยชน์จากวงการตำรวจอย่างมากมายที่สุดยุคหนึ่ง โดยที่โมเดลการปฏิรูปตำรวจ ทำเสร็จตั้งแต่ปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยคณะกรรมการที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน และในการชุมนุมทางการเมืองช่วงต้นเดือนพฤศจิกาฯ พล.ต.อ.วสิษฐ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ขึ้นเวทีด้วย

เมื่อทุกอย่างเป็นเพียง "เกมการเมือง" ซึ่งมีผลประโยชน์ทางการเมืองรออยู่ ทางออกใดๆ ย่อมไม่เป็นทางออก!