ศึก!นักวิชาการ... ประชาภิวัฒน์ ปะทะ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

ศึก!นักวิชาการ... ประชาภิวัฒน์ ปะทะ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

"เป็นอีกยุคที่สังคมแตกแยกทางความคิดในวงกว้าง จึงไม่แปลกที่ระดับนักวิชาการ จะแยกเป็นสองกลุ่มชัดเจน

ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม ส่วนอีกฝ่ายหนุนให้รัฐบาลยึดวิถีรัฐบาล ดำเนินการเลือกตั้งตามกรอบที่วางไว้"

สองขั้วนักวิชาการ ที่"ขัดแย้ง"มุมมอง ต่ออนาคตของชาติกันอย่างมากในวันนี้ ไม่ใช่พึ่งจะเห็นต่างกัน แต่เป็นคู่ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

"ประชาภิวัฒน์"ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)ประกาศเป็นแนวทางใหม่เมื่อค่ำวันที่ 9 ธ.ค.2556 ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่คือกรอบคิดเดิมของนักวิชาการกลุ่ม"สยามประชาภิวัฒน์"ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2551 เป็นกลุ่มนักวิชาการ ที่รวมตัวมุ่งล้างระบอบทักษิณ ก่อนที่จะมี"กลุ่มนิติราษฎร์"ที่มีแนวคิดยืนตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

ธ.ค.ปี พ.ศ.2556...ทั้งสองกลุ่มเปิดหน้าปะทะทางความคิด ชัดเจนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ทั้งสอง"อิง"มวลชนที่กว้างขึ้น

"สยามประชาภิวัฒน์"...อิงกับผู้ชุมนุมและเป็นกุนซือทางความคิดให้กับ กปปส.ในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็น พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ,คมสันต์ โพธิ์คง, บรรเจิด สิงหคะเนติ , จรัส สุวรรณมาลา และ สุวิชา เป้าอารีย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ยังมีกลุ่มอธิการบดีแห่งประเทศไทยหรือ ทปอ.และ อาจารย์ "ธีรยุทธ บุญมี" ที่ความคิดค่อนข้างสอดคล้องกัน !

"สยามประชาภิวัฒน์"...มองว่า

"สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าต่อสังคม และต่อระบบการเมืองไทย ...สาเหตุของปัญหาในสังคมไทยที่เป็นสาเหตุหลักคือ “กลุ่มทุนนิยมเผด็จการ” ....สังคมไทยในปัจจุบันที่มีการมองหรือพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งแล้วทุกสิ่งจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งความคิดหรือความเชื่อแบบนี้ ค่อนข้างจะทำให้ประชาธิปไตยมีความเสี่ยง "

"สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)ที่อิงกับฐานมวลชน ที่ยืนตรงกันข้ามกับ กปปส. เป็นการร่วมกลุ่ม นักคิดนักวิชาการ 151 คน โดยมาจากกลุ่มนิติราษฎร์" กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นต้น

อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, วรเจตน์ ภาคคีรัตน์, เกษียร เตชะพีระ, พนัส ทัศนียานนท์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นต้น

กลุ่มนี้มองว่า

"มีหลักการของการก่อตั้ง 4 ข้อคือ 1. ไม่เห็นด้วยกับการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมือง 2. ไม่เป็นด้วยกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร 3. เห็นด้วยกับการรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ และ 4. เห็นด้วยกับการรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยของคนไทย และข้อเสนอของการก่อตั้งสภาประชาชนหรือนายกฯพระราชทาน เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย และทางการเมืองเป็นเงื่อนไขของการที่จะนำไปสู่วิกฤติและทางตันทางการเมือง"

เสกสรรค์ ประเสริฐกุลแม้จะไม่"ลงชื่อ"ในกลุ่ม สปป.แต่เมื่อย้อนดูแนวคิดและมุมมองที่ปาฐกถาพิเศษ 13-14 ต.ค.2546 ที่ผ่านมา โดนใจกลุ่มสปป.โดยตรง

เป็นยุคที่"ประชาภิวัฒน์ ปะทะ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย !

เป็นยุคที่ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล -ธีรยุทธ บุญมี" คิดเพื่อประเทศไทยกันคนละมุม !

นักวิชาการ,สื่อสารมวลชน ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางความคิดของคนในชาติอย่างมาก ความขัดแย้งที่ผ่านมา ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

หากจะเห็นสันติสุข ของประเทศในวันข้างหน้า นักวิชาการก็สมควรอย่างยิ่งที่ต้อง"ตกผลึก"ระดับหนึ่งว่าจะนำพาประเทศไปทิศทางไหน แน่นอน ต้องเริ่มจาก"ดึง"ตัวเองออกมาจาก"ขั้ว"อำนาจทางการเมือง กลับมาทำหน้าที่ผลักดันแนวคิดอย่างเสรีภาพ

ข้อเสนอเพื่อให้ประเทศชาติสันติสุข... เอาเข้าจริงนักวิชาการ อาจ"ปรองดอง"กันยากกว่าประชาชนด้วยซ้ำ!