กฎระเบียบอียูที่ผู้ประกอบการด้านอาหารและอาหารสัตว์ไทยควรรู้

กฎระเบียบอียูที่ผู้ประกอบการด้านอาหารและอาหารสัตว์ไทยควรรู้

อียูเป็นตลาดร่วมของผู้บริโภค 506 ล้านคน และเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก

โดยเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 4 ของไทย เพียงแค่ 7 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีมูลค่าการค้ากับไทยถึง 8 แสนล้านบาท สินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งไปอียู หรือคิดเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท

สินค้าเกษตรและอาหาร 3 อันดับแรกที่ไทยส่งไป คือ กลุ่มไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง ตามมาด้วย ยางพารา และกลุ่มสินค้าประมงกระป๋องและแปรรูป และสินค้าประมงสดแช่เย็น-แช่แข็ง และส่งออกอาหารสัตว์เป็นอันดับที่ 8

แม้ตลาดอียูจะมีความสำคัญมาก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายและกฎระเบียบของอียูทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์นั้น มีมาตรฐานที่สูงมากและเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงมีความซับซ้อนเข้าใจยาก และมีการทบทวนแก้ไข หรือ ออกกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศสมาชิกอียูทั้ง 28 ประเทศเท่านั้นที่จะต้องถือปฏิบัติตาม แต่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ซึ่งจะส่งสินค้าไปวางจำหน่ายในตลาดอียู ก็จะต้องถือปฏิบัติตามด้วย

สำหรับสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากประเทศนอกอียูนั้น อียูได้มีระบบ RASFF (Rapid Alert System for Food and Feed) ซึ่งหากสินค้านั้นถูกตรวจพบว่ามีปัญหาด้านสุขอนามัย ไม่ว่าจะพบในอียู หรือ พบใน 4 ประเทศที่เข้มงวดเรื่องสุขอนามัยอย่างนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิคเตนสไตน์ และสวิตเซอร์แลนด์ ข้อมูลก็จะถูกส่งไปรวมกันที่ RASFF

ล่าสุด ปี 2555 RASFF รายงานว่าพบปัญหาสินค้าจากไทย 120 ครั้ง จากปัญหาสินค้าที่อียูตรวจพบทั่วโลก 9 พันครั้ง หรือติดอันดับ 15 ประเทศแรกที่ถูกตรวจพบปัญหามากที่สุด โดยปัญหาหลักๆ คือ การพบสารตกค้างในผักผลไม้ สารโลหะหนักในผลไม้กระป๋อง มะละกอ GMO รวมถึงสารหนูในอาหารสัตว์ และพบสารอันตราย sitbutramine ในกาแฟลดความอ้วน นอกจากนี้ ยังพบเชื้อแบคทีเรียในปลาทูน่ากระป๋อง โดยเฉพาะพบในประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่าอียูในเรื่องนี้ไปอีกระดับด้วยมาตรฐานที่ว่า จะต้องไม่พบเชื้อแบคทีเรียโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างข้างต้น เป็นหนึ่งในความท้าทายของสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ไทยที่จะส่งไปยังตลาดอียู ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการ มีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามนโยบายและกฎระเบียบของอียูอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวได้

เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการสัมมนา เรื่อง EU Regulations on Food and Feed Safety : Current State of Affairs and Future Trend ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐที่เป็น competent authority ด้านความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์ของอียู และมีผู้ประกอบการในสาขาอาหารและอาหารสัตว์ ถึง 370 คน เข้าร่วม

การสัมมนาดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้จัดขึ้นในความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและผู้บริโภค (DG-SANCO) จากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และหน่วยงานที่มีบทบาทในการประเมินความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์ และเป็นผู้ให้ข้อคิดเห็นแก่คณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อใช้ประกอบการร่างหรือแก้ไขกฎระเบียบ อย่าง European Food Safety Authority (EFSA) จากเมืองพาร์มา ประเทศอิตาลี

ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดถึงสภาวการณ์ปัจจุบันของกฎระเบียบสหภาพยุโรปด้านความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์ และได้รับทราบแนวโน้มของกฎระเบียบ รวมถึงได้เข้าใจแนวทางและผลการประเมินความเสี่ยงที่สำคัญของอาหารและอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องสารเจือปนในอาหาร (food additives) สารปนเปื้อนในอาหาร (food contaminants) สารเจือปนในอาหารสัตว์ (feed additives) และอาหารสัตว์ผสมยา (medicated feed)

หากสินค้าอาหารและอาหารสัตว์มีส่วนประกอบเป็นสารที่กล่าวถึง แต่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎระเบียบของอียู สินค้านั้นก็จะถูกตีกลับและไม่สามารถวางจำหน่ายในอียูได้เลย

การสัมมนาดังกล่าวได้ปูพื้นฐานโดยไขข้อข้องใจว่า สารแต่ละตัวที่กล่าวถึงข้างต้นคืออะไร อียูอนุญาตให้ใช้หรือให้พบในอาหารได้ไหม และถ้าจะใช้ต้องระบุในฉลากไหม....

ตามกฎระเบียบอียู สารเจือปนในอาหาร (food additives) คือ สารที่ไม่ได้ใช้บริโภคในฐานะอาหาร หรือใช้เป็นวัตถุดิบประกอบในอาหาร แต่เป็นสารที่จงใจใส่ในอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ทางเทคนิค ได้แก่ สีผสมอาหาร สารให้ความหวาน สารกันบูด สารแอนติออกซิแดนท์ สารคงรูปทรง และอิมัลซิฟายเออร์

สำหรับผู้ประกอบการหลายท่านซึ่งเคยเข้าใจผิดว่า สารปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น เกลือ จัดเป็น food addtive และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่อง food additive ก็ได้เข้าใจในวันนี้ว่า อียูไม่ถือว่าสารปรุงแต่งกลิ่นรสเป็นสารจำพวก food additive นอกจากนี้ สารอาหารเสริม เช่น วิตามิน เกลือแร่ สารที่ใช้เพื่อฟังก์ชันทางเทคโนโลยี เช่น เอ็นไซม์จากอาหาร และสารช่วยในกระบวนการผลิต/แปรรูป (processing aid) ก็ไม่ถือเป็น food additive ด้วย

อียูอนุญาตให้ใช้ food additive ได้บางประเภทซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ https://webgate. ec.europa.eu/sanco_foods ซึ่งจะระบุเงื่อนไขและปริมาณการใช้กับอาหารแต่ละประเภท

นอกจากนี้ ที่ฉลากอาหาร อียูได้กำหนดให้ต้องแจงรายชื่อส่วนผสมในอาหารไว้ใน "รายการส่วนผสม (list of ingredients)" บนฉลาก โดยเรียงลำดับจากส่วนผสมที่มีน้ำหนักมากที่สุดลงมา โดยจะต้องแจงรายชื่อ food additive ในอาหารด้วย โดยให้ใส่ ชื่อหมวดหมู่ของ food additive นั้น และตามด้วยชื่อเฉพาะ หรือ E number ก็ได้ เช่น "emulsifiers E472e" ซึ่งในเว็บไซต์ข้างต้น จะให้ข้อมูลว่า สารดังกล่าวถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด

หากสารดังกล่าวอยู่ในรูปวัสดุนาโน ก็จะต้องระบุคำว่า "nano" ในวงเล็บหลังชื่อสารด้วย นอกจากนี้ มีข้อยกเว้นว่า หากสารนั้น เป็นสารที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย แต่มิได้ช่วยให้เกิดฟังก์ชันทางเทคโนโลยีแก่ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ก็ไม่จำเป็นต้องระบุในฉลาก

ในขณะที่สารปนเปื้อน (food contaminant) มีความแตกต่างจาก food additive คือเป็นสารที่ไม่ได้จงใจใส่ในอาหาร แต่ปนเปื้อนมากับอาหาร เช่น สารไดออกซิน อะฟลาทอกซิน ดีบุก แคดเมียม ซึ่งอียูได้กำหนดว่า หากอาหารมีระดับสารปนเปื้อนหนึ่งๆ เกินกว่าที่กำหนด อาหารนั้นจะไม่สามารถจำหน่ายในอียูได้ ซึ่งสารปนเปื้อนหนึ่งๆ ในประเภทอาหารที่แตกต่างกัน อาจมีข้อกำหนดระดับสารสูงสุดที่อียูรับได้ที่แตกต่างกัน เช่น กำหนดให้พบดีบุกในอาหารกระป๋องได้ไม่เกิน 200 มก. ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กก. และในเครื่องดื่มกระป๋องซึ่งรวมถึงน้ำผักผลไม้กระป๋อง ได้ไม่เกิน 100 มก. ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กก.

โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบระดับค่าสูงสุดของ food contaminant ต่างๆ ที่สามารถพบได้ในอาหาร ได้ที่ภาคผนวก (annex) ของกฎระเบียบ REGULATION (EC) No 1881/2006 ว่าด้วยเรื่องการกำหนดระดับค่าสูงสุดของสารปนเปื้อนในอาหาร

มาถึงเรื่องอาหารสัตว์ ก็มี additive เช่นกัน ที่เรียกว่า สารเจือปนในอาหารสัตว์ (feed additive) ซึ่งก็เป็นสารที่จงใจใส่เช่นเดียวกัน แต่ใส่ลงไปในอาหารสัตว์ หรือ ในน้ำ โดยอาจเป็นสาร หรือ จุลินทรีย์ หรือ สารผสม (ที่นอกเหนือจากวัตถุดิบและส่วนผสมของอาหารสัตว์) เพื่อให้เกิดฟังก์ชัน เช่น เกิดคุณสมบัติที่ดีและพึงปรารถนาต่ออาหารสัตว์ หรือต่อเนื้อสัตว์ (หลังเชือด) เกิดสีสำหรับปลาและนกสวยงาม เสริมสารอาหารแก่สัตว์ เป็นต้น

ตัวอย่างของ feed additive เช่น สารปรุงแต่งกลิ่นรส สารให้สี วิตามิน เกลือแร่ สารแอนติออกซิแดนท์ สารปรับความเป็นกรด-ด่าง สารช่วยย่อย และกลุ่มสาร coccidiostat และ histomonostat (antibiotic ที่มิใช่ 2 สารนี้ ไม่ถือเป็น feed additive)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อ และเงื่อนไขการใช้ feed additive ที่อียูอนุญาตให้ใช้ ได้ที่ http://ec.europa.eu/food/food/animalnutrition/feedadditives/c_50_en.pdf ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,000 รายการ สำหรับ feed additive ที่ถูกเพิกถอนไม่ให้ใช้ในอียู มีอาทิ Avoparcin และ Methylbenzoquate

นอกจากนี้ ฉลากต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ REGULATION (EC) No 1831/2003 ว่าด้วยสารเจือปนที่ใช้ในสารอาหารสำหรับสัตว์ ซึ่งแต่ละหมวดหมู่ของ feed additive จะมีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างกันไป

แต่สำหรับข้อมูลพื้นฐานที่ต้องมีปรากฏในฉลาก มีอาทิ ชื่อและหมวดหมู่ของ feed additive ชื่อและที่อยู่ของ ผู้ผลิต/ผู้บรรจุ/ผู้นำเข้า หรือผู้ขาย วันที่ผลิต น้ำหนักสุทธิ วิธีการใช้และข้อแนะนำการใช้เพื่อความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนดที่ระบุในกฎระเบียบ (แล้วแต่สารแต่ละชนิด) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ครอบคลุมเรื่องประเภทสัตว์ที่จงใจจะใช้สารดังกล่าวด้วย

สำหรับอาหารสัตว์ผสมยา (medicated feed) จะต้องผลิตจากส่วนผสมทางยา (veterinary medical product-VMP) ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และจะต้องผลิตภายใต้เงื่อนไขเฉพาะตามที่กำหนดในกฎระเบียบเท่านั้น นอกจากนี้ จะต้องวางจำหน่ายในตลาดในบรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะที่ปิดผนึกเท่านั้น

สาระของการสัมมนายังคงมีอีกมาก ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถรับชมวีดิโอบันทึกการสัมมนาตลอดการสัมมนา ได้ที่ http://www2.thaieurope.net/?p=5025 และยังสามารถอ่านเอกสารประกอบทั้งหมด รวมถึงเอกสารผลการศึกษาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เรื่อง นโยบายความปลอดภัยด้านอาหารของอียู และนโยบายว่าด้วยการตัดแต่งทางพันธุกรรมของอียู ได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามข้อมูลเชิงลึกของอียูที่มีผลกระทบสำคัญ หรือเป็นโอกาสต่อประเทศไทย ได้ที่ www.thaieurope.net และติดตามรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ที่ Twitter "@Thaieuropenews" และ facebook "Thaieurope.net"