การกำกับดูแลการชอบโชว์ในสื่อ

การกำกับดูแลการชอบโชว์ในสื่อ

จั่วหัวแบบนี้คงหนีเรื่องใดไปไม่ได้ หากไม่ใช่ประเด็นสุดฮอตซึ่งเกิดขึ้นในประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของบ้านเรา

ที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความย้อนแย้งระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ซึ่งต่างแย่งชิงการนำด้วยการอ้างวาทกรรมประชาธิปไตยสลับกับการเพรียกหาความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อท้ายที่สุดวาทกรรมดังกล่าวจะระดมมวลชนผลักดันให้ฝักฝ่ายของตนได้ขึ้นเป็นอำมาตย์อันทรงเกียรติได้อย่างสมใจหมาย

ว่าแต่ การเชิดชูวาทกรรมอันใดก็ตาม คงหนีไม่พ้นวังวนของความไร้ศิวิไลซ์ เหมือนกับวิวาทะที่ว่าด้วย หากเราจะมองการรัฐประหารเป็นสิ่งล้าหลังตกยุคแล้วละก็ เราก็จะต้องตระหนักด้วยว่า การคอร์รัปชันคือสิ่งสะท้อนความด้อยพัฒนาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์ที่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือการทำเรื่องไม่เป็นเรื่องให้เป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยพูดถึงกันแล้วละก็ ดูเหมือนว่าสำนักสื่อต่างๆ ได้ทำหน้าที่ "ไทยมุง" ตอบโจทย์ความใคร่รู้ของคนดูได้อย่างชะงักนัก กล่าวคือมุงได้ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องแปลกประหลาด เรื่องใต้เตียง เรื่องชาวบ้าน ที่สามารถสร้างกระแสได้เหมือนไฟลามทุ่ง ซึ่งรอคอยวันดับสูญ เพียงเพื่อจะคอยไฟลามทุ่งชุดใหม่ที่จะสร้างความสะใจให้กับผู้เสพสื่อแบบประทังชีวิตไปวัน ๆ

ที่เห็นชัดๆ ก็ตั้งแต่การจดทะเบียนสมรสของเจนนี่กับเอ๋ เรื่องในมุ้งที่กลายเป็นเรื่องราวสาธารณะสนั่นทั่วบ้านทั่วเมือง ตามมาด้วยประเด็นที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่าด้วย เรื่องชะนีและความงาม จนกลายเป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเกือบทุกสำนัก เล่นเอาวาระข่าวที่ควรจะเล่า สิ่งที่ชาวบ้านควรได้ฟังต้องถูกซุกใต้พรมไป พร้อมกับการแจ้งเกิดของ ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส. หน้าใหม่ที่สามารถกำหนดวาระข่าวและใช้วิวาทะของตนให้เป็นประเด็น Talk of the town ได้

ความเล่นเป็นของแหล่งข่าวที่ต้องการตกเป็นข่าว จนสามารถสับหลีกสาระสำคัญให้กลายเป็นเรื่องลำดับรองได้นั้น นับเป็นปรากฏการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ของสื่อเชิงพาณิชย์ที่ต้องติดกระแส จุดประเด็นให้ดราม่าเข้าไว้เพื่อเรียกเรทติ้งคนอ่านคนฟังให้สูงเข้าว่า จนกลายเป็นบรรทัดฐานทั่วไปของการทำข่าว ซึ่งหากเนื้อหาของสื่อที่ลุกฮือตามกระแส ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลก็คงหนีไม่พ้นสภาพสังคมที่ไปในทางเดียวกับทิศทางการทำข่าวที่เป็นเหมือนโรงละครแห่งหนึ่งที่สาดโคลน ดราม่ากันไป แต่หาที่มาที่ไปของเรื่องราวหรือความเป็นเหตุเป็นผลของประเด็นที่ถกเถียงกันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องโชว์ตัวเองในสื่อเพื่อให้เป็นที่รู้จักของพี่น้องประชาชนก็พอจะเข้าใจได้ในหลักการขายตัวเองเพื่อแลกกับเสียงโหวตได้ แต่ครั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่เห็นคนทั่วไปสามารถใช้สื่อโชว์ตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณาขายยา ขายน้ำ ขายเซ็กซ์ที่มีกันอย่างกลาดเกลื่อนกระโดดเข้ามาเล่นเกมการขายสื่อโชว์ตัวเองด้วยจึงทำให้สื่อมวลชนยุคนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่สะท้อนผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนแต่อย่างใด

อาจจะด้วยเหตุนี้หรืออย่างไรไม่ทราบ จึงทำให้องค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อ อย่าง กสทช. ปลุกผีเผด็จการขึ้นมาทำหน้าที่ในการควบคุมเนื้อหาสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัดด้วยการออกร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1) หมวดที่ว่าด้วยเนื้อหาที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ 2) หมวดที่ว่าด้วยมาตรการในการออกอากาศรายการ และ 3) หมวดการกำกับดูแล โดยการกำหนดร่างดังกล่าว เสนอขึ้นโดยกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการฯ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบว่า ประหนึ่งว่า กสทช. มีอำนาจล้นฟ้าในการควบคุมเนื้อหาสื่อ จนดูไปดูมาอาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่การันตีเสรีภาพสื่อ ซึ่งระบุให้มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นองค์กรภายใต้กำกับของรัฐธรรมนูญ การออกหลักเกณฑ์ที่ให้อำนาจตนในการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งขาดหลักการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะที่แท้จริงเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการทำตัวเป็น พี่ใหญ่ ในหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวล และมองอุตสาหกรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ประหนึ่งหุ่นยนต์ที่ต้องทำตามคำสั่ง หาได้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ท้าทายและต่อยอดทางความคิดของคนในสังคมไม่

กรณีการเรียกผู้กำกับฮอร์โมนเข้าพบ เพื่อชี้แจงในประเด็นเนื้อหาล่อแหลมที่เป็นข่าวครึกโครมจนเป็น Talk of the town ไปแล้วนั้น นอกจากจะแสดงถึงความจำกัดจำเขี่ยในกรอบวิธีคิดอนุรักษนิยมที่ไม่เชื่อว่าประชาชนปกครองและดูแลตัวเองได้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงอาการเรียกแขกที่อยากโชว์ผลงานและอำนาจตน แบบเกาะกระแสเด็กดัง เป็นข่าวชนิดไฟลามทุ่งและดับไป กลบเรื่องราวสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายหลักๆ อย่างประเด็นทีวีดิจิทัล รวมถึงการถ่ายโอนคลื่น 1800 ได้ชะงักนัก

ทั้งนี้ การเรียกแขก เพื่อเลี่ยงประเด็นอันเป็นสาระ พร้อมกับโชว์อำนาจและตัวตนขององค์กรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ฐานเสียง คะแนนโหวต หรือความนิยมชมชอบจากพี่น้องประชาชนนั้นก็ดูจะเป็นตลกร้ายขององค์กรสาธารณะในแบบไทยๆ อันสะท้อนถึงความไม่นิ่งในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จนทำให้เด็กๆ มันเอาไปล้อเลียนต่อได้ว่า ครูปกครอง ของโรงเรียนนาดาว บางกอก ยังมีตัวตนอยู่จริงในสังคม และพร้อมจะถือไม้เรียวตัดสินความดีงาม สร้างภาพให้เห็นว่าเราเป็นสังคมน่าอยู่ โดยหารู้ไม่ว่ามันเป็นเพียงมายาคติที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง