นำเสนอลีลามืออาชีพ (2)

นำเสนอลีลามืออาชีพ (2)

สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันเรื่องข้อแนะนำในการนำเสนอลีลามืออาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางที่คุณ Chris Anderson

ผู้ดูแลผลงานของ TED.com ชี้แนะผู้ที่ได้รับเชิญนำเสนอบนเวทีสำคัญนี้

TED.com เป็นเวทีที่นำผู้รู้ชั้นครูมาถ่ายทอด “ความคิดที่ทรงคุณค่าน่าเผยแพร่” หรือ“ideas worth spreading” ปัจจุบันมีผู้เข้าชมรายการนับพันล้านครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ตอนที่แล้ว เราเริ่มคุยกันเรื่องกติกาของคุณ Chris ว่า

1.ต้องไม่ให้คนฟังนั่งเกิน 18 นาที ไม่มีต่อรอง แถมต้องมีการเตรียมตัวซักซ้อมมาอย่างดี ใช้เวลา 9 -12 เดือนก่อนขึ้นเวทีเป็นอย่างต่ำ

2.เนื้อหาต้องโดดเด่น เจาะเล่นแค่ประเด็นสำคัญแบบลึกแต่กระชับ

3.มีโครงเรื่องนำเสนอ เสมือนพาผู้ฟังเริ่มเดินทาง แล้วไปสิ้นสุดที่จุดหมายที่น่าสนใจ โดยใช้วิธีเล่าเป็นเรื่องอย่างน่าติดตาม

4.เปิดให้แรง เหมือนหน้าปกนิตยสาร เนื้อหาข้างในเล่มจะดีเด่นเช่นไร อาจไม่มีประโยชน์หากปกไม่น่าสนใจ จึงไม่มีใครสนใจเปิดอ่าน

“ปก” หรือ การเปิดประเด็นนำเสนอ เป็นหัวใจในการสะกิดหู ทำให้เกิดความอยากรู้ และอยากฟังอย่างใจจดจ่อต่อไป
สัปดาห์นี้ มาฟังต่อว่า TED มีข้อชี้แนะอะไรเพิ่มเติมนะคะ

5.อย่าเยอะ!

สิ่งถัดไปที่ต้องเตรียมการ คือ เตรียม Audio Visual นั่นคือ การใช้สื่อทั้งเสียงและภาพระหว่างการนำเสนอ

TED.com ฟันธงว่า คนส่วนใหญ่ใช้ PowerPoint แบบพร่ำเพรื่อจนคนเบื่อฟัง

ดังนั้น เขาจึงขอว่าอย่าใช้สไลด์ที่ขึ้นจอแทนตำรา หรือใส่เนื้อหาทั้งหมดที่จะพูด เพราะจะทำให้อัดใส่ข้อมูลมากมายบนจอ จนคนฟังอ่านไม่ได้ อ่านไม่ทัน อ่านไม่เห็น เป็นที่สงสัยว่าแล้วขึ้นจอทำไมให้เหนื่อย

ทั้งนี้ แม้คนฟังอ่านได้ ก็ไม่ใช่ดี เพราะจะไม่มีคนฟัง เนื่องจากเขามัวนั่งอ่านแทน คนพูดอยากพูดอะไรก็พูดไป ฉันอ่านได้สบายใจเฉิบ

ดังนั้น ข้อมูลที่ขึ้นจอ TED ขอเป็นตัวใหญ่ๆ ไม่ต้องมาก และกรุณาอย่าใช้หลากหลายรูปแบบตัวหนังสือ หรือ font
ขอน้อย เรียบ แต่แรงครับ

6.อย่าให้อุปกรณ์เสริมเล่นบทนำ

ใช้ภาพและวีดีโอเสริมการนำเสนอได้ ในกรณีที่เห็นภาพแล้วเป็นประโยชน์ น่าสนใจ หรือเข้าใจง่ายกว่าการอธิบาย อย่างไรก็ดี วีดีโอประกอบต้องไม่ยาวเยิ่นเย้อ คุณ Chris แนะนำว่าอย่าเกินครั้งละ 60 วินาทียิ่งดีครับ

นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่าทั้งเสียงและภาพเป็นเพียง “ส่วนประกอบ” หาใช่ตัวหลักของการนำเสนอ ผู้พูดจึงต้องไม่เผลอเปลี่ยนบทตนเองเป็นตัวประกอบ และมอบภาระให้ภาพและเสียงเป็นพระเอกแทน

อีกหนึ่งวิธีที่ดิฉันมักใช้ในการสอน Presentation Skills คือ ทุกครั้งที่ผู้นำเสนอฉายสไลด์และอธิบายเรียบร้อย อย่าปล่อยให้ภาพหรือเนื้อหาค้างอยู่บนจอ โดยเคาะให้ภาพปิด จะได้ดึงจิตใจและสายตาของคนในห้อง ให้มาจับจ้องที่ผู้พูดต่อไปได้อย่างเนียนๆ

7.ลีลาบนเวที

ท้ายที่สุด จุดสำคัญคือการนำเสนอบนเวที

สำหรับท่านที่เป็นมือใหม่ในการนำเสนอ ส่วนนี้ดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทั้งกลัวขายขี้หน้า ทั้งขาสั่นเมื่อต้องลุกขึ้นยืนเผชิญกับสายตาคนนับสิบนับร้อย ที่ดูเหมือนจะคอยจับจ้องทุกอิริยาบถ น่าสยดสยอง

คุณ Chris ฟันธงว่าความประหม่าเป็นสิ่งธรรมดา ทั้งมิได้น่ารังเกียจ หรือเลวร้ายอย่างที่ใครๆ มักกังวล

ยิ่งหากเตรียมการมาดี แค่สูดลมหายใจช้าๆ ทำสมาธิก่อนขึ้นเวที เริ่มให้ได้อย่างแม่นยำ ความประหม่าก็ทำอะไรเราไม่ได้

8.การเคลื่อนไหวระหว่างพูด

คุณ Chris แนะนำว่า เมื่ออยู่บนเวทีไม่จำเป็นต้องเดินไปมา เพราะยิ่งหวั่นไหว ประหม่า คนพูดยิ่งขยับกระสับกระส่าย วิธีที่ง่ายที่สุด คือยืนอยู่กับที่ โดยขยับเฉพาะส่วนบนของร่างกาย คือ หน้า ลำตัว แขน และมือแบบธรรมชาติ คล้ายกับการคุยกับใครๆ ในสถานการณ์ปกติ

9.สบสายตา

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้พูดสามารถสยบผู้ฟังได้ นอกเหนือจากเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ก็คือการใช้สายตาสะกดผู้ฟังทั้งห้องให้ตั้งใจอยู่กับเรา

วิธีง่ายๆ คือ การมองหาหน้าคนฟังที่เป็นมิตรในมุมต่างๆของห้อง ระหว่างที่พูดก็สบตากับคนเหล่านี้สลับไปมา ผลจะดูเหมือนว่าเรากำลังพูดกับผู้ฟังทั้งห้อง

ลองนึกภาพคนที่คุยกับเราโดยเขาไม่ยอมสบตา อารมณ์คนฟังที่ได้ อย่างไรก็อย่างนั้นเลยค่ะ ผู้ฟังจะจับได้ว่า ผู้พูดประหม่าจนไม่กล้ามองหน้าใคร หรือ เขาไม่ใส่ใจผู้ฟังอย่างเรา หรือ..เขาเป็นกระสือ

10.จบแรง กระชับ สร้างแรงบันดาลใจ

อยากให้ผู้ฟังจดจำอะไร ตอนจบถือเป็นอีกเวลาที่ต้องตระเตรียมหาทางลงให้สวย กระชับ ได้ใจ สร้างแรงบันดาลใจ โดยอาจไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความคิดใดๆ ให้ผู้ฟัง

กลับไปใช้สมมติฐานที่ระบุในตอนแรกว่า อย่าดูถูกวุฒิภาวะของผู้ฟัง ให้เขานั่งคิดนั่งวิเคราะห์เองบ้างก็ได้ ไม่ผิดกติกาค่ะ