ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (2)

ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (2)

เมื่อตอนที่ผ่านมาผมได้กล่าวกว้างๆ ถึงการคิดสูตรราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นราคาถ่วงน้ำหนักตามปริมาณของก๊าซธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ในประเทศไทย

ซึ่งมาจาก 3 แหล่งหลักๆ คือก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากสหภาพพม่า และก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ซึ่งเมื่อมองดูถึงแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตแล้วก็จะเห็นว่า LNG จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งจากในประเทศและนำเข้าจากสหภาพพม่านั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต

เมื่อมีการใช้ LNG ในสัดส่วนที่สูงมากขึ้น ราคาของ LNG ก็จะเข้ามามีผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นราคาที่ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเข้า LNG มาอย่างไร เป็นการนำเข้าโดยมีสัญญาระยะยาวหรือการนำเข้าโดยการเข้าไปซื้อในตลาดที่มีการซื้อขายกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแบบสัญญาระยะสั้น (Short Term) หรือแบบทันที (Spot)


ที่น่าสนใจก็คือว่าตอนนี้ได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซแหล่งใหม่ที่เรียกกันว่าก๊าซธรรมชาตินอกรูปแบบหรือ Unconventional Gas อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือที่มีการค้นพบแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน หรือ Shale Gas ในปริมาณที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสถานะเป็นผู้นำเข้า LNG นั้นกลับต้องหันมามองว่าจะส่งออกก๊าซธรรมชาติในรูปแบบ LNG อย่างไรดี และจากการที่สหรัฐหันมาเป็นผู้ส่งออกที่ถูกมองว่าจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คาดกันว่าจะไปทำให้ตลาด LNG ของโลกได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลของ Wood Mackenzie ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกก็ได้มองว่ากลุ่มผู้ผลิต LNG ของโลกที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตอันใกล้ซึ่งนอกจากทางทวีปอเมริกาเหนือซึ่งปัจจุบันมีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอส่งออกแล้วเป็นปริมาณรวมกันถึงประมาณ 300 ล้านตันต่อปี ก็ยังจะมีผู้ผลิต LNG ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญอีกทั้งจากประเทศแถวตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกาตะวันออก และทางไซบีเรียตะวันออก โดยทาง Wood Mackenzie ได้ประมาณการว่าการเติบโตของปริมาณการผลิต LNG นั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

คราวนี้เมื่อมามองดูถึงความต้องการใช้ LNG ในตลาดโลก ทาง Wood Mackenzie ก็ได้ประมาณการว่าความต้องการ LNG นั้นจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีนับตั้งแต่ปี 2556 ไปจนถึงปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 5 โดยการเติบโตดังกล่าวนั้นมาจากความต้องการในฝั่งแปซิฟิกที่คาดว่าเติบโตในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี โดยมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศไต้หวันเป็นผู้นำเข้าหลัก แต่ก็จะมีตลาดแห่งใหม่ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งก็คือประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งทางกลุ่ม BG Group ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกมองว่าจะเข้ามาเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่เป็นอันดับสองและอันดับสามของโลกต่อจากประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2568 นี้เลยทีเดียว

การค้นพบ Shale Gas จำนวนมหาศาลนั้นเข้ามามีบทบาทต่อตลาด LNG อย่างไรนั้น สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีโรงงานแปรสภาพก๊าซจากของเหลวให้กลายเป็นไอ (LNG Regasification Plant) ที่มีขนาดที่รวมกันแล้วใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองโดยมีการปรับปรุงจากโรงงาน Regasification ไปเป็นโรงงานที่ใช้แปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว (LNG Liquefaction Plant) แทน นอกจากนี้ LNG ที่แต่เดิมสหรัฐฯ ต้องนำเข้ามาโดยตลอดนั้น ก็ถูกมองว่าจะค่อยๆ ลดลง และจะกลายเป็นผู้ส่งออกแทน

สถานะที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ นี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาด LNG ซึ่งแต่เดิมจะต้องขนไปยังสหรัฐฯ นั้น ก็จะต้องหันไปเสาะหาตลาดใหม่แทน เช่น ตลาดยุโรปหรือเอเชีย ซึ่งการที่มีปริมาณ LNG เพิ่มขึ้นมาในตลาดยุโรปและเอเชียนี้ก็จะส่งผลดีต่อราคา LNG ในตลาดด้วยเช่นกัน โดยมีนักวิชาการด้านพลังงานหลายรายมองว่าราคาขาย LNG ที่มีการซื้อขายกันในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกนั้นจะมีการปรับตัวลดลงเพื่อรองรับกับปริมาณ LNG ในตลาดที่จะได้รับผลกระทบจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้

โดยจากที่ผมได้กล่าวมาเมื่อตอนที่แล้วว่าปัจจุบันราคา LNG ที่ขายอยู่ในตลาดและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้เป็นราคาอิงกับราคาน้ำมันหรือ Oil-Indexation เป็นส่วนใหญ่ แต่การเข้ามามีบทบาทในตลาด LNG ที่มากขึ้นของสหรัฐฯ นี้ทำให้นักวิชาการด้านพลังงานต่างมองว่าราคา LNG ที่มีการอิงจากราคาประกาศ ณ จุดส่งมอบ หรือ Hub Indexation จะเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ นั้นเริ่มมีการส่งออก LNG ในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า

แต่ถึงแม้ว่าราคา LNG มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง แต่ราคา LNG นั้นก็ยังถูกมองว่ายังอยู่ในระดับสูง ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่นั่นก็เป็นราคาในสหรัฐฯเท่านั้น หากเราจะซื้อมาในรูปของ LNG แล้ว ก็จะต้องรวมต้นทุนที่จะต้องแปรรูปไปเป็นของเหลว ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนค่าแปลงสภาพจากของเหลวกลับมาเป็นไอเข้าไปด้วย ซึ่งหากเราต้องซื้อ LNG จากสหรัฐฯ นั้นก็จะต้องพิจารณาต้นทุนในส่วนพวกนี้เข้าไปด้วย

ในคราวหน้าผมจะมาคุยต่อถึงต้นทุนที่เกี่ยวกับการนำเข้า LNG ดังกล่าว ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า LNG นั้น ไม่ใช่เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าหากเราสามารถซื้อได้จากสหรัฐฯ ก็ตาม