จาก Hate speech สู่ Hate crime : จากการเมืองไทยสู่แรงงานพม่า

จาก Hate speech สู่ Hate crime : จากการเมืองไทยสู่แรงงานพม่า

ความขัดแย้งทางการเมืองที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อบ่งบอกถึงความไม่พอใจในรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศกำลังกลับขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมีปรากฏการณ์หน้ากากขาวออกสำแดงเดชทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับตามมาด้วยกระแสต้านจากกลุ่มหน้ากากแดง ซึ่งหนีไม่พ้นประเด็นที่ยังคงวนเวียนอยู่กับระบอบทักษิณและตระกูลชินวัตร

การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจหรือสนับสนุนรัฐบาลดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกตามหลักสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในอันที่จะอนุญาตให้ความเห็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวสาธารณะได้มีพื้นที่ในการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายนี้เอง หลายคนเห็นว่าอาจเป็นการประกาศสงครามเสื้อสีอีกระลอก ที่สามารถกระตุ้นเร้านำไปสู่ความรุนแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

จากปรากฏการณ์ข้างต้นที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองน่าจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษาที่ว่าด้วยการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hate speech ได้ โดยในการให้คำนิยาม Hate speech ในความหมายระดับสากล หมายถึง วาจาหรือการแสดงออกซึ่งมุ่งสร้างความเกลียดชังต่อปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคน โดยมีฐานจากอคติเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ความฝักใฝ่ทางเพศ สถานที่เกิด ชนชั้น อุดมการณ์ทางการเมือง หรือคุณลักษณะใดๆ อันเป็นการแบ่งแยกได้ ทั้งนี้ การสร้างความเกลียดชังปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวสามารถพัฒนาไปสู่การแสดงออกซึ่งกระทำและความรุนแรงต่อตัวบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นในเชิงกายภาพได้ (Hate crime) เพียงเพราะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ มีอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับอคติที่ถูกปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังนั่นเอง โดยความรุนแรงทางกายภาพจะเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการภายใต้การทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ถูกเกลียดชังนั้นๆ มีสถานะที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ไม่ว่าจะด้วยการทำให้เป็นที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง เป็นส่วนเกินของสังคม จนทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะทำให้บุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวหายไปจากสังคมที่ตนเองดำรงอยู่

ทั้งนี้ จากการสำรวจจาก Noriega และ Iribarren นักวิชาการที่เฝ้าสังเกตและติดตามปรากฏการณ์การสังหารหมู่และความรุนแรงอันเกิดมาจาก Hate speech จะพบว่าการสื่อสารที่สร้างเกลียดชังประกอบไปด้วย 1) การบิดเบือนความจริง 2) การสร้างข้อโต้แย้งที่บกพร่อง (Flawed Argumentation) 3) การสร้างความเป็นอื่น (Divisive Language) และ 4) การลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanizing Metaphors) ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันอย่างไม่ให้คลาดสายตาว่า การสื่อสารของทั้งกลุ่มเสื้อสี กลุ่มสื่อแยกข้าง รวมถึงกลุ่มหน้ากากอันหลากหลายเหล่านี้ จะข้ามเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกไปสู่การเป็น Hate speech หรือไม่ อย่างไร เพราะท้ายที่สุด เราคนไทยคงไม่อยากเห็นปรากฏการณ์แบ่งขั้ว แบ่งสี อันนำไปสู่อาชญากรรมที่กระทำต่อคนไม่รู้จัก แต่เพียงเพราะเขามีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันเท่านั้นก็ถือเป็นสาเหตุให้คนไทยสามารถลงไม้ลงมือกันได้

แม้เรื่องการเมืองที่ว่าด้วย Hate speech ซึ่งอยู่ในระยะสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาพจะดูเป็นอะไรที่อ่อนไหวอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้ แต่ Hate speech อีกด้านที่เราจะละเลยไม่ได้เห็นจะเป็นการสื่อสารที่ตอกย้ำและสร้างให้เกิดความเกลียดชังในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่มีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างแรงงานพม่าที่กระจุกตัวกันอยู่ตามเมืองหลวงและเมืองอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะในการทำงานประเภท 3D คือ งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย (Dangerous) และงานยาก (Difficult) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกแรงงานคนไทยปฏิเสธที่จะทำ โดยจากการลงพื้นที่ทำวิจัย พบว่าในเมืองที่มีการกระจุกตัวของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ มักจะมีความไม่พอใจของคนไทยในพื้นที่ ซึ่งมีต่อแรงงานข้ามชาติชาวพม่าค่อนข้างมาก เนื่องด้วยคนไทยในพื้นที่มักมองว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคุกคามทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการทำมาหากิน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูการนำเสนอภาพของแรงงานเหล่านี้ของสื่อมวลชนดู ก็จะเห็นถึงการตอกย้ำให้สถานะของแรงงานเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อสังคมไทยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอเรื่องราวบ่อนของแรงงานพม่าจากรายการข่าวสามมิติ หรือการนำเสนอเรื่องราวของลูกหลานของแรงงานเหล่านี้ที่แย่งที่เรียนในโรงเรียนไทย อันนำไปสู่ความตกต่ำของคุณภาพการศึกษาของหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ซึ่งท้ายที่สุดแม้ข่าวดังกล่าวจะนำเสนอภาพความจริงที่เกิดขึ้น แต่การเลือกประเด็นการนำเสนอในแง่มุมลบๆ ก็ช่วยขับเน้นให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้คือ ปัญหาของสังคมและเป็นส่วนเกินที่ควรตัดออกจากสังคมไทยให้เร็ววัน

ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ ครั้งพัฒนาการของความเกลียดชัง ที่เริ่มจากการกระตุ้นเร้าเชิงคำพูดและวาจา ไปสู่การแสดงออกในการกระทำที่รุนแรง อาจไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนหรือเกิดจากคำพูดเพียงวลีใดวลีหนึ่งเท่านั้น หากแต่การพัฒนา Hate speech ที่พัฒนาไปสู่การเป็น Hate crime ได้นั้นอาจมีกระบวนการทำงานที่เกิดจากการตอกย้ำอย่างซ้ำซาก ซึ่งเริ่มจากคำพูดธรรมดาที่คนฟังเห็นว่าเป็นเพียงการเสียดสี ล้อเลียน ทั่วๆ ไป จนพัฒนาสร้างความชอบธรรมให้กับความเกลียดชังดังกล่าวให้ดูกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งท้ายสุดเมื่อมีการกระตุ้นเร้าหรือสะกิดด้วยคำพูดหรือเหตุการณ์ความขัดแย้งเพียงนิดเดียวก็ก้าวกระโดดไปสู่ความรุนแรงชนิดที่ต่างฝ่ายต่างต้องแตกหักกันไปข้างก็เป็นได้

เราในฐานะที่เป็นประชาชนตาดำๆ ไม่ใช่แกนนำคงต้องจับตาดูพัฒนาการ Hate speech ในสังคมเราอย่างระแวดระวัง เพื่อไม่ให้ประเทศเรากลายเป็นสยามเมืองยิ้มที่ยิ้มไม่ออก เพราะท้ายสุดต้องเปื้อนไปด้วยเลือดอันเกิดจากความเกลียดชังของคนบนผืนแผ่นดินนี้