ข้อสังเกตแนวทางการป้องกันซิมดับ

ข้อสังเกตแนวทางการป้องกันซิมดับ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอแก้ไขความผิดพลาดของบทความฉบับก่อนหน้านี้

ซึ่งกล่าวไว้ว่า “กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นน่าจะผูกพันต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ที่ถูกต้องผู้เขียนต้องการที่จะกล่าวว่า กสทช. ไม่น่าจะผูกพันต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจาก กสทช. ไม่ใช่หน่วยงานราชการจึงไม่ต้องปฏิบัติตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2482” โดยผู้เขียนต้องขออภัยในความผิดพลาดครั้งนี้ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านหลายท่านเกิดความสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

ในส่วนของบทความฉบับวันนี้ยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาสัมปทานของบริษัท ดิจิดอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) และบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) เนื่องจากอีกเพียงประมาณสามเดือนเศษเท่านั้นสัญญาสัมปทานดังกล่าวก็จะสิ้นสุดลง แต่ผู้ให้บริการทั้งสองรายยังคงมีจำนวนผู้ใช้บริการจำนวนมากกว่า 17 ล้านเลขหมายที่ยังไม่ได้ทำการย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิมไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ประกอบกับความสามารถในการโอนย้ายเลขหมายปัจจุบันมีศักยภาพเพียงวันละสี่หมื่นเลขหมาย ซึ่งหากจะทำโอนย้ายเลขหมายทั้งหมดจะต้องใช้ระยะเวลากว่าหนึ่งปี

จึงเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อสัญญาสัมปทานทั้งสองสิ้นสุดลงจะต้องมีผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปได้หรือที่เรียกว่า “ซิมดับ” โดยไม่รู้ว่าจะได้รับการโอนย้ายเลขหมายเมื่อใด ซึ่ง กสทช. ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กสทช. จึงได้การร่างกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อป้องกันปัญหาซิมดับซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำและปรึกษากับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องและคาดว่าจะมีการประกาศให้ประชาชนทราบอีกไม่นานนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการได้ว่าจะสามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมายของดีพีซีและทรูมูฟได้อย่างต่อเนื่องในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการดังกล่าวของ กสทช. นั้นควรมีความชัดเจนและพิจารณาถึงรายละเอียดบางประเด็น เช่น

1. มาตรการชั่วคราวของ กสทช. แม้มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตามการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ประชาชนนั้นจะต้องดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการติดตามข่าวพบว่ากรรมการ กสทช. บางท่านก็ได้แสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนว่ามาตรการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กสทช. จึงควรชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงมาตรการดังกล่าวโดยละเอียดพร้อมทั้งฐานทางกฎหมายเพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ต่อไป

2. การให้บริการแก่ผู้ใช้บริการของดีพีซีและทรูมูฟตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นจะดำเนินการโดยดีพีซีและ ทรูมูฟผู้รับสัมปทานต่อไป หรือต้องเป็นการให้บริการโดย กสท ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานและผู้เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมที่ใช้ในการให้บริการซึ่งได้รับโอนจากดีพีซีและทรูมูฟตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องว่าผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการในระหว่างนี้แก่ผู้ให้บริการรายใด ซึ่งในกรณีนี้ควรมีการชี้แจงที่ชัดเจนเพื่อมิให้เกิดความสับสนต่อผู้ใช้บริการ

3. ในกรณีที่ กสท เป็นผู้รับช่วงสัญญาให้บริการต่อจากดีพีซีและทรูมูฟ เงินในระบบของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดซึ่งผู้ใช้บริการได้ชำระให้แก่ดีพีซีและทรูมูฟแล้วนั้นจะทำอย่างไร เนื่องจาก ผู้เขียนเห็นว่า กสท ไม่ได้เป็นคู่สัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้รับสัมปทาน การเติมเงินค่าบริการที่ผ่านมาจึงไม่ผูกพัน กสท ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา กสท เรียกเก็บค่าบริการซ้ำซ้อนกับค่าบริการที่ผู้ใช้บริการชำระให้แก่ผู้รับสัมปทานไว้แล้ว อีกทั้ง ในกรณีนี้คงต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า กสท จะมีบุคคลากรที่พร้อมจะรับช่วงต่อการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการของดีพีซีและทรูมูฟ กว่า 17 ล้านเลขหมายหรือไม่

4. ในกรณีที่ดีพีซีและทรูมูฟเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการได้ต่อไป รายได้ที่ดีพีซีและ ทรูมูฟได้รับจากผู้ใช้บริการระหว่างการดำเนินมาตรการชั่วคราวของ กสทช. นั้น ดีพีซีและทรูมูฟจะต้องนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ กสท อีกหรือไม่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดดังกล่าวในสัญญาสัมปทานกำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งในกรณีนี้ กสท กับดีพีซีและทรูมูฟ อาจต้องทำข้อตกลงกำหนดส่วนแบ่งรายได้หรือค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของ กสท เป็นการเฉพาะ

5. กำหนดระยะเวลามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการจะมีกำหนดเพียงใด และเมื่อสิ้นสุดการคุ้มครองแล้ว ผู้ใช้บริการจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร ซึ่งรวมถึงเงินที่ผู้ใช้บริการได้ชำระล่วงหน้าในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดแก่ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการยังสามารถที่จะยังคงมีสิทธินำเลขหมายเดิมไปใช้งานในระบบผู้ให้บริการรายอื่นได้อยู่หรือไม่ ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการควรมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน และไม่นานจนเกินไป โดย กสทช. ควรเร่งขยายความสามารถในการโอนย้ายเลขหมายให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz

ทั้งนี้ ข้อสังเกตข้างต้นเป็นเพียงประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าที่ กสทช. จะต้องชี้แจงต่อประชาชนและทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งเมื่อ กสทช. มีความชัดเจนเพิ่มเติมในรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวอย่างไรแล้ว ผู้เขียนจะทำการศึกษาและเสนอความเห็นภายหลังต่อไปครับ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่