สื่อเซนเซอร์ตนเองกับกำกับดูแลตนเองไม่เหมือนกัน

สื่อเซนเซอร์ตนเองกับกำกับดูแลตนเองไม่เหมือนกัน

หลายคนอาจลืมเรื่องละครเหนือเมฆ 2 ถูกระงับการออกอากาศจากทางไทยทีวีสีช่อง 3 ไปแล้ว เพราะกระแส“คุณชาย”จากละครซีรีส์ชุดเทพบุตรจุฑาเทพกำลังโหมแร

แต่จริงๆ บางตอนของละครยอดนิยมชุดนี้ก็ประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกับเหนือเมฆ 2 คือถูกเซนเซอร์เนื้อหาแม้จะไม่รุนแรงเท่าก็ตาม

การเซนเซอร์ดังกล่าวปรากฏออกมาในตอนของ “คุณชายพุฒิภัทร” ซึ่งเป็นลำดับที่สามในซีรีส์ เป็นตอนที่นางเอกซึ่งมีตำแหน่งเป็นนางสาวศรีสยามจะต้องถูกส่งตัวไปที่ “วิมานสีชมพู” ซึ่งตรงนี้เองที่มีการดูดเสียงของตัวละคร ทำให้เห็นแต่ปากที่ขยับไปมา ซึ่งพอหลายครั้งเข้าก็เดาได้ว่าคือคำพูดอะไร

มิไยที่ผู้ที่สงสัยใคร่รู้จะไปสืบค้นดูจากโลกออนไลน์ ก็จะเจอคำตอบว่า “วิมานสีชมพู” เป็นสถานที่ในอดีตประมาณ 40 ปีมาแล้ว สำหรับตระเตรียมสาวงามก่อนส่งมอบให้นายพลชั้นผู้ใหญ่ในยุคเผด็จการคนหนึ่ง นายพลผู้นี้ว่ากันว่านิยมมีอนุภริยาเป็นสาวงามจากเวทีประกวด ในเว็บไซต์ซึ่งนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวยังพูดถึงประวัติของนายพลคนดังกล่าวพาดพิงไปถึงเรื่องการถูกยึดทรัพย์หลังถึงแก่อสัญกรรม และการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของการได้มาซึ่งทรัพย์สินจำนวนมหาศาลระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เหล่านี้ล้วนเป็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับนายพลผู้นี้ ซึ่งลูกหลานย่อมจะรู้สึกอับอายหากมีการผลิตเนื้อหาตรงนี้ออกมาสู่สาธารณะ หากแต่ตัวละครใน “คุณชายพุฒิภัทร” ก็ไม่ได้ชื่อเสียงเรียงนามเดียวกับนายพลในอดีต แม้จะมีการสร้างคาแรคเตอร์ในลักษณะที่คล้ายคลึงก็ตาม

ว่ากันที่จริง ละครซีรีส์ชุดนี้เป็นละครพีเรียดย้อนยุคกลับไปในช่วงยุค พ.ศ. 2500 ต้นๆ หากจะมีคุณูปการใดๆ ให้คนดูนอกเหนือจากความรักแบบชวนฝันและธีมเรื่องเดิมๆ ในแนวอิจฉาริษยา แย่งผู้ชาย และสังคมศักดินา ก็น่าจะเป็นเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุคสมัยนั้น ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ทรงเกียรติ ดีงามสถานเดียว เป็นเรื่องร้าย น่ารังเกียจแต่สอนใจให้คนได้บทเรียนบ้างก็ได้ ทว่าทางสถานีก็เหมือนเกิดอาการวิตกจริตที่ตัดสินใจเซนเซอร์ด้วยการดูดเสียงดังกล่าวไปแล้ว

โชคดีที่กรณี “วิมานสีชมพู” ผ่านตาคนดูส่วนใหญ่ไปและไม่ได้กระตุกต่อมสำนึกแห่งเสรีภาพใดๆ ของคนไทยเหมือนกรณีเหนือเมฆ 2 ที่ถูกแบนกลางอากาศ แม้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะอ้างเหตุผลว่าเป็นการกำกับดูแลตนเองก็ตาม ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่ายังค่อนข้างจะคลุมเครือว่าเป็นการเซนเซอร์ตนเองหรือกำกับดูแลตนเองกันแน่ เพราะทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเลย แม้ภาพที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนอาจไม่แตกต่างกัน เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับคัดเลือก กลั่นกรอง และการตรวจพิจารณาเนื้อหาทั้งคู่ โดยเฉพาะเนื้อหารายการถ้าเป็นสื่อโทรทัศน์

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ค่านิยม อุดมการณ์ หรือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเซนเซอร์หรือกลั่นกรองเนื้อหาเพื่อกำกับดูแล ในกรณีของการเซนเซอร์ เหตุปัจจัยหลักก็คือความกลัว คือกลัวว่าถ้าเผยแพร่เนื้อหาออกไปแล้วจะเดือดร้อน อาจส่งผลต่อความอยู่รอดทั้งทางชีวิตของผู้ผลิตเนื้อหา ความอยู่รอดทางธุรกิจขององค์กรสื่อ และแน่นอนว่าที่มาของความกลัวคืออำนาจหรืออิทธิพลที่ฉายเงาครอบงำสังคมนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือ กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเสรีภาพในการแสดงออกก็ตาม


นอกจากนี้ การเซนเซอร์ตนเองเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตสื่อ เช่นถ้าเป็นละครก็คือ ตั้งแต่คัดเลือกบทประพันธ์ พิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตละคร แล้วจึงมอบหมายให้ดำเนินการผลิตละคร พิจารณาการจัดวางผู้แสดง ตรวจสอบบทละครโทรทัศน์ และติดตามเนื้อหาละครหลังออกอากาศไปแล้ว

มีเพื่อนในวงการละครเคยกระซิบว่า การสร้างละครสะท้อนปัญหาของสถาบันในเครื่องแบบเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดเลยในฟรีทีวีของไทย หรือการแตะต้องการเมืองก็ต้องทำแบบผิวๆ ที่สุดเพราะอาจโดนโทรศัพท์สายตรงสั่งลงมาไม่ให้ได้สัญญาจัดละครอีก ปัญหาตรงนี้ส่วนสำคัญหนึ่งก็เป็นเพราะโครงสร้างความเป็นเจ้าของของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวียังแนบแน่นภายใต้การถือครองคลื่นของรัฐ และระบบสัมปทานคลื่นให้เอกชน

สำหรับการกำกับดูแลตนเอง กระบวนการของการดูแลเนื้อหาเพื่อกำกับดูแลน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือก่อนและระหว่างการผลิต โดยฐานแห่งการพิจารณาเนื้อหาใดๆ จะไม่ได้มาจากความกลัวผลกระทบในด้านต่างๆ ดังกล่าวไปแล้ว แต่เป็นไปด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบทางสังคม ประโยชน์แห่งสาธารณะ หรือบางทีก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรสื่อนั้นๆ ก็เป็นได้ และที่มาของการกำกับดูแลตนเองก็ต้องมาจากสำนึกภายใน ทั้งในระดับนักวิชาชีพสื่อปัจเจก องค์กรผลิตสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อที่ได้มีการประมวลจริยธรรมวิชาชีพไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

หากพิจารณาในมุมของการกำกับดูแลตนเองด้านเนื้อหาในโทรทัศน์ โดยเฉพาะฟรีทีวี สิ่งที่น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดตัวหนึ่งก็คือ การให้เรทเนื้อหา (content rating) หรือการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหานั่นเอง การให้เรทเนื้อหาเป็นการสร้างทางสายกลางระหว่างการเซนเซอร์กับการปล่อยเสรีโดยไม่มีการดูแลใดๆ เลย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการคุ้มครองจากเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมคือเด็ก เพราะฉะนั้นเรทจึงเป็นเครื่องมือช่วยผู้ปกครองในการกลั่นกรองการเข้าถึงเนื้อหาของเด็ก

ทว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่เนืองๆ บนหน้าจอโทรทัศน์บ้านเราก็คือ เรทที่ไม่สะท้อนเนื้อหา อย่างละคร “มัจจุราชสีน้ำผึ้ง” ซึ่งออกอากาศยาวระหว่าง 20.30-22.30 น. ทางช่อง 3 ได้เรท ท.-ทั่วไป (แปลว่าเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีไม่มีพิษภัย) ทั้งที่มีเนื้อหาความรุนแรงและกดขี่ทางเพศ หรือรายการวาไรตี้ตลกที่ออกอากาศช่วงกลางวันและมักมีภาษาที่กำกวม สองแง่สองง่าม ก็ได้เรท ท. กันจนเกร่อ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ผลิต (โดยความยินยอมของสถานี) เป็นผู้ให้เรทตนเอง ก็เลยพยายามสร้างเรทที่ทั่วไปที่สุดจะได้มีฐานคนดูเปิดกว้างและสามารถดึงโฆษณาเข้ามาได้ในกลุ่มคนดูทุกวัยไม่จำกัด

การกำกับดูแลตนเองของสื่อนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดสำหรับการรังสรรค์ให้สื่อทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะในยุคที่สื่อมีจำนวนและช่องทางหลากหลายอย่างที่เป็นในปัจจุบัน เนื่องจากองค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช.ก็คงไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้เพียงลำพัง

แต่ด้วยต้นทุนมหาศาลที่ กสทช.มีทั้งในเชิงการเงินและบุคลากร ก็อดฝากไปทางองค์กรกำกับดูแลน้องใหม่นี้ด้วยความหวังไม่ได้ว่า ถ้าท่านจะสามารถช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพสื่อสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวและส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลตนเองจริงๆ โดยจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างเรทเนื้อหาได้ก็คงเป็นคุณูปการกับสังคมไทยไม่น้อยเลย