ถูกแอบถอนเงินฝาก : ธนาคารหรือผู้ใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ถูกแอบถอนเงินฝาก : ธนาคารหรือผู้ใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ผู้ที่มีรายได้ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากธุรกิจการค้าการลงทุน หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเปิดบัญชีเงินฝากไว้ธนาคาร

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ การฝากเงินกับธนาคารก็เป็นไปด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น เพื่อความปลอดภัยและต้องการดอกเบี้ย หรือเพราะเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่มีระบบการจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร หรือเปิดบัญชีเพื่อความสะดวกในการจ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

การฝากเงินกับธนาคาร เป็นเอกเทศสัญญา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์ โดยอาจสรุปได้ว่าสัญญาฝากทรัพย์ คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษา ทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้ ผลของสัญญาฝากทรัพย์ก่อให้เกิดความผูกพันแก่ผู้รับฝาก จะต้องดูแลรักษาทรัพย์ที่ตนรับไว้ให้มีความปลอดภัย ไม่ให้เกิดการสูญหายหรือบุบสลายได้

ส่วนระดับการดูแลนั้น ถ้าเป็นการรับฝากที่ทำให้เปล่า ไม่มีค่าตอบแทน ผู้รับฝากต้องดูแลทรัพย์เหมือนทรัพย์สินของตนคือดูแลทรัพย์สินของตนอย่างไรก็ดูแลทรัพย์สินที่รับฝากเช่นนั้นก็ใช้ได้ แต่ถ้าหากเป็นการรับฝากที่มีบำเหน็จ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือในการดูแลทรัพย์สินนั้นเฉกเช่นวิญญูชนจะต้องกระทำคือสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และถ้าผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพหรือประกอบกิจการเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือในการดูแลทรัพย์สินนั้นตามที่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นจะต้องกระทำ นอกจากนี้กฎหมายลักษณะฝากทรัพย์ยังได้บัญญัติวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ด้วย คือ ตอนคืนเงินไม่จำเป็นต้องคืนเงินแบบตอนนำไปฝาก แต่มีจำนวนครบก็ใช้ได้ และผู้รับฝากคือธนาคารมีสิทธินำเงินนั้นไปหมุนใช้ได้

การฝากเงินไว้กับธนาคาร มีปัญหาเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยคือวันดีคืนดีก็มีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อไปถอนเงิน หรือแอบถอนเงินออกจากบัญชีด้วยวิธีการใดๆ โดยเจ้าของเงินไม่รู้เรื่อง แม้บางกรณีเจ้าของเงินฝากไม่ได้ปรับสมุดเงินฝากเป็นเวลานาน เช่นนี้ใครจะต้องรับผิดชอบ เจ้าของเงินที่ไม่ได้ปรับสมุดเงินฝากเป็นเวลานาน ต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

กรณีเช่นนี้มีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ถือเป็นบรรทัดฐานได้ว่า หากมีผู้แอบถอนเงินฝากไปไม่ว่าโดยบุคคลภายนอกปลอมลายมือชื่อหรือโดยพนักงานของธนาคารกระทำการโดยมิชอบ ผู้ที่ต้องรับผิดต่อเจ้าของเงินคือธนาคารที่ต้องรับผิดตามสัญญาฝากเงิน ไม่ใช่รับผิดฐานละเมิด ผู้ที่ปลอมลายมือชื่อหรือพนักงานธนาคารทำการโดยมิชอบแอบถอนเงินไป ก็เป็นเรื่องที่ทำละเมิดต่อธนาคาร ไม่ได้ทำละเมิดต่อเจ้าของเงิน เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 6708/2537 คดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ คนขับรถของโจทก์เจ้าของบัญชีเงินฝาก แอบขโมยเช็คไป และปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของโจทก์สั่งจ่ายเงินตามเช็ค โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้ธนาคารจำเลยทราบว่าเช็คถูกขโมยไป ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ไปโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจดูลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้แทนโจทก์ที่ให้ไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 1 ให้ดีเสียก่อนนั้น เป็นเพียงเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายไม่อาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารของโจทก์ได้เท่านั้น จึงเป็นกรณีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฝากเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ตามกฎหมายต่อเมื่อธนาคารจำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีของโจทก์และปฏิเสธที่จะคืนเงินให้โจทก์ตามจำนวนเงินที่เหลืออยู่เดิม จึงได้ก่อข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญาฝากเงินขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ขึ้นตั้งแต่ที่จ่ายเงินไปโดยประมาท เลินเล่อนั้นไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดฐานละเมิด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 2542/2549 โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ.มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าว มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด จึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659 วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์ แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์มิได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ยจึงมิใช่เรื่องผิดวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่ตนฝาก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์