การ “ลด และ ละ” กับอีกหนึ่งมิติในการบริหาร

การ “ลด และ ละ” กับอีกหนึ่งมิติในการบริหาร

ความเข้าใจหรือความเชื่อดั้งเดิมที่มีกันมาในการบริหารในระดับต่างๆ นั้นคือเรื่องการของสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การสร้างคุณค่า

และการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แม้กระทั่งตัวผู้บริหารเอง อย่างไรก็ดีข้อคิดและอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีอีกมุมมองหนึ่งที่สำคัญและมักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหาร คือ การ “ลด ละ” ในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลดเรื่องของความแตกต่างในตัวสินค้าและบริการ หรือ แม้กระทั่งการลดอัตตาของตัวผู้นำเอง

ในระดับองค์กรนั้น ท่านผู้อ่านลองสังเกตกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ จะพบว่าเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ นวัตกรรม (Innovation) หรือ การเพิ่ม / สร้างคุณค่า (Value-Added) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีสิ่งใหม่ๆ และการสร้างคุณค่านั้นก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง องค์กรก็จะยึดติดกับการเพิ่มคุณค่า สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้สินค้าและบริการขององค์กรมีการพัฒนาในสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และผลที่ตามมาคือทำให้ต้นทุนและราคาสูงขึ้น ซึ่งสุดท้าย ด้วยราคาที่สูงขึ้น กับ คุณสมบัติหรือคุณค่าใหม่ๆ ที่มีมากขึ้น ก็อาจจะทำให้สิ่งที่องค์กรนำเสนอนั้นเกินความต้องการพื้นฐานของลูกค้า สามารถสังเกตได้จากสินค้าและบริการจำนวนมากในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนมีคุณสมบัติและความสามารถพิเศษใหม่ๆ เต็มไปหมด ซึ่งทำให้มูลค่าของตัวสินค้าสูงขึ้น อย่างไรก็ดีมูลค่าจริงๆ ที่เราใช้กันอยู่นั้นอาจจะไม่ถึงราคาขายของสินค้าดังกล่าวก็ได้

ท่านผู้อ่านลองนึกถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และท่านซื้อกันมาเครื่องละเท่าไร? และลองถามตัวเองจริงๆ ว่ามูลค่าที่ใช้อยู่จริงๆ เท่าไร? จะเห็นได้ว่าสินค้าบริการจำนวนมากที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเพิ่มคุณค่าเข้าไป แต่ก็จะเกินความต้องการพื้นฐานของลูกค้าและเมื่อใดก็ตามที่ลูกค้ามีทางเลือกใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ ลูกค้าก็อาจจะหันหนีไปหาคู่แข่งใหม่ๆ

ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าหรือสิ่งใหม่ๆ นั้น ลองนึกถึงที่โกนหนวดก็ได้ครับ ท่านผู้อ่านจำได้ไหมครับว่าในอดีตนั้นในมีดโกนหนวดของผู้ชายนั้น มีใบมีดทั้งหมดกี่ใบมีด? และปัจจุบันที่โกนหนวดรุ่นล่าสุดที่วางจำหน่ายอยู่นั้นมีกี่ใบมีด? ในอดีตนั้นมีใบมีดอยู่เพียงแค่หนึ่งใบมีด แต่ด้วยนวัตกรรมและการสร้างคุณค่าต่างๆ ก็ทำให้บริษัทที่ผลิตที่โกนหนวดนั้นเพิ่มจำนวนใบมีดขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากจำนวนใบมีที่เพิ่มแล้ว ยังมีแถบหรือสารหล่อลื่น หรือ แม้กระทั่งใส่ถ่านให้มีดโกนหนวดสั่นเวลาโกนหนวดได้ รุ่นล่าสุดที่ผมพบเจอนั้นจะมีใบมีดทั้งหมด 5 ใบมีด พร้อมแถบหล่อลื่น และสามารถใส่ถ่านให้สั่นได้ด้วย คำถามสำคัญคือการเพิ่มคุณค่าและสิ่งใหม่ๆ สำหรับองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ ณ จุดใดที่การเพิ่มนั้นนำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น และสุดท้ายเกินความต้องการของลูกค้า

ดังนั้น ความท้าทายสำคัญในเชิงกลยุทธ์องค์กรก็คือ องค์กรกล้าที่จะลด หรือ ละบางอย่างที่เราเคยคิดว่าลูกค้าต้องการ แต่จริงๆ ลูกค้าไม่ต้องการได้หรือไม่? ธุรกิจสายการบินที่สายการบินต้นทุนต่ำ เกิดขึ้นมาโดยลด ละ สิ่งที่สายการบินทั่วไปนำเสนอ โดยพยายามตอบสนองความต้องการพื้นฐานของผู้โดยสารก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าถ้าองค์กรไม่ ลด หรือ ละ นั้น เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็อาจจะมีคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูกค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าเข้ามาทำลายความได้เปรียบที่องค์กรมีอยู่ หรือ ในกรณีของ Apple ที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งเน้นหลัก Minimalist หรือ การไม่ใส่ Function / Feature ต่างๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ของ Apple ตั้งแต่ต้น ก็ยังทำให้เกิดกระแสความคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์ของ Apple มาได้

คราวนี้ลองหันมาดูในระดับตัวบุคคลกันบ้างนะครับ โดยเฉพาะตัวผู้นำในระดับต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการลด และ ละ ด้วยเช่นกันครับ (ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านด้วยนะครับ) เนื่องจากเมื่อบุคคลก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะมาจากความสำเร็จในอดีตหรือการมีพื้นฐานที่ดี ทำให้บุคคลดังกล่าวสะสมความเชื่อมั่น และ ความมั่นใจในการกระทำและการตัดสินใจของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าความเชื่อมั่นและความมั่นใจนั้น ตามหลักการแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ (เหมือนกับการเพิ่มคุณค่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในระดับองค์กร) ก็จะย้อนกลับมาส่งผลให้บุคคลผู้นำเกิดความยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งที่ตนคิด ตนทำ จนไม่เปิดใจรับฟังต่อความคิดเห็นของผู้อื่น หรือ เห็นว่าสิ่งที่ผู้อื่นทำนั้นยังไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ซึ่งผลร้ายก็จะกลับมาที่ตนเอง

ดังนั้น เรื่องของการ ลด ละ นั้นควรจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารเฝ้าถามตนเองอยู่เป็นประจำนะครับ ว่าปัจจุบันในเชิงกลยุทธ์นั้นองค์กรนำเสนอในสิ่งที่เกินความต้องการของลูกค้าหรือไม่? และ ตัวผู้นำเองได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองจนเกินไปหรือไม่? สมควรจะมีการลด หรือ ละ บ้างไหม?