ไขปริศนา : ตามล่าขวัญกำลังใจในที่ทำงาน

ไขปริศนา : ตามล่าขวัญกำลังใจในที่ทำงาน

ท่านผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่ดิฉันได้มีโอกาสทำงานด้วย ยามคุยเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงาน มักตัดพ้อ ท้อก่อนลูกน้อง เหตุเพราะองค์กร

ของตนขัดสนเงินทอง

มองว่าหากขาดเงินมาจูงใจ ใครจะอยากทุ่ม กลุ้มใจ

วันนี้ดิฉันมีผลการศึกษามาเล่าเป็นข่าวดีให้องค์กรส่วนใหญ่ใจชื้นว่า

เงิน แม้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ถึงจุดหนึ่ง เงินทองของนอกกาย มิใช่ตัวจริงของแท้ที่มีพลังทำให้คนมุ่งมั่นทุ่มเท

แต่เป็นอะไร มาไขปริศนากันค่ะ

ท่านที่ศึกษาเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจ หรือ Motivation คงคุ้นเคยกับทฤษฎีของ Herzberg ที่ระบุว่า การดูแลคนต้องใส่ใจทั้งด้านปัจจัย “ภายนอก” และ ปัจจัย “ภายใน”

ปัจจัย "ภายนอก" มีอาทิ สภาวะแวดล้อมด้านกายภาพในที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก นโยบายองค์กร

บรรยากาศการทำงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน รวมถึง เงิน ผลตอบแทนที่พนักงานได้รับ

ปัจจัย "ภายใน” ได้แก่ ความรับผิดชอบที่เขามี เนื้องานที่เขาสนใจ ความก้าวหน้า และ การทำดีได้ดี

อาจารย์ Herzberg ฟันธงว่า แม้ปัจจัยภายนอกสำคัญ แต่ผลดีที่ได้คือ ทำให้ทีมงานไม่หงุดหงิดงอแง หรือหยุดความไม่พอใจ Dissatisfactionเป็นหลัก

ตัวกระตุ้นความพอใจ Satisfaction กลับกลายเป็นปัจจัย “ภายใน”

คับที่อยู่ได้ แต่ไม่อยากคับใจไงครับ

นอกจากนั้น เราเคยคุยกันในคอลัมน์นี้ เรื่องการศึกษาของ Dr.Teresa Amabile คนดังแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ที่ลงแรงวิจัยต่อเนื่องเรื่องนี้ พี่ก็ฟันธงลงล๊อคเดียวกันว่า Progress หรือ ความก้าวหน้าในการทำงานทุกวัน เป็นตัวกระตุ้นที่แท้จริงไม่อิงนิยายของคนทำงาน

แรงกระตุ้นสำคัญ มาจากการที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำประสบความสำเร็จ มีผลคืบหน้า ไม่วกวนเวียนไปมาในอ่าง ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเรื่องใหม่กลายเป็นเก่า เน่าคามือ

หากหัวหน้าอยากเติมเชื้อไฟให้ใจฮึกเหิม จึงต้องหาวิธีที่ทำให้ลูกทีมประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการโค้ชงาน การตั้งเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ตลอดจนมีการวัดความสำเร็จย่อยๆระหว่างทาง เพื่อให้สัมผัสได้ถึงความก้าวหน้า รวมถึงการชื่นชมให้กำลังใจ ให้ผิดเป็นครู อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ ถือว่าสำเร็จในอีกแง่

นั่นคือ หัวหน้าต้องไม่ปล่อยให้ลูกทีมอยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มเหลว อยู่บนปากเหวทุกขณะจิต ต้องคิดฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามตามลำพัง ล้มลุกคลุกคลาน ไม่เป็นกระบวน

ลูกน้องฝากกระซิบเพิ่มมาว่า ที่สำคัญ ห้ามหัวหน้าเป็นตัวอุปสรรคเสียเอง

ล่าสุดคุณ Daniel Pink ได้โหมกระพือแนวคิดนี้ ให้ที่ทำงานมีความหวังในการ Motivate ทีมงานอีกรอบ

คุณ Pink ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะเป็นหนึ่งในนักคิดด้านการบริหารที่มีอิทธิพลสูงสุดของโลก 50 คน

ผลงานที่เป็นที่ฮือฮาของเขา ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือหลายเล่ม อาทิ หนังสือ Bestseller ชื่อ Drive: The Surprising Truth About What Motivates Us และ To Sell is Human: The Surprising Truth About Moving Others

เขาเน้นศึกษาเรื่องการ Motivate คน โดยฟันธงว่า ความจริงที่น่าประหลาดใจในการกระตุ้นคนทำงานยุคใหม่ให้ทุ่มเท หาใช่ตัวเงินไม่

คุณ Pink อ้างอิงถึงการวิจัยมากมาย ว่าการใช้รางวัลในรูปเงินมีประโยชน์ก็จริง แต่เป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดในการกระตุ้นให้คนมีขวัญกำลังใจ ซึ่งสะท้อนมุมมองของสองนักคิดที่เรากล่าวถึงข้างต้น

นอกเหนือจากนั้น เขาเสริมว่า หากงานเป็นประเภทที่ต้องใช้สมอง ต้องตรอง ต้องลองคิด และใช้จินตนาการ การใช้ตัวเงินมาล่อ โดยหวังว่าจะทำให้ผลงานอลังการมากขึ้น..

จะเกิดผลในทางตรงข้าม!

จากการวิจัยซ้ำๆ ไล่เรียงจากการทดลองกับนักศึกษาที่สถาบันดัง MIT ไปถึงการทำงานจริงในสภาวะองค์กรที่หลากหลาย รวมถึงในเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย เป็นต้น

เขาพบว่าหากงานใช้แรงกายล้วนๆ เงินมีส่วนสำคัญในการกระตุ้น ส่งผลให้ได้งาน

แต่หากงานเริ่มซับซ้อน ต้องใช้ความละเอียดอ่อนของสมอง ปรากฏว่า...

เงินมิได้ส่งผลในเชิงบวกดั่งตั้งใจ และถึงจุดหนึ่ง กลับมีส่วนทำให้ได้งานน้อยลงเสียด้วยซ้ำ

ปัจจัยที่จี้ต่อมกระตือรือร้น ทำให้คนกระหายอยากทำงานให้ได้ อยากไปให้ถึงซึ่งเป้าหมาย กลายเป็น

1.Mastery เขาได้พัฒนา ได้ฝึกฝน ได้รู้สึกว่าก้าวหน้าในความรู้ความสามารถ ได้รู้จริงในสิ่งที่ทำหรือไม่ หรือทำไป ดำน้ำขุ่นๆไป อึดไม่ไหว ก็ขาดใจไป เป็นใครก็ท้อ

2.Autonomy เขารู้สึกว่ามีอิสระในการทำงานประมาณไหน หรือ จะไปเข้าห้องน้ำก็ต้องขออนุญาต ศาสตร์เดียวที่ควรใช้ให้แคล่วคล่อง คือต้องทำให้ได้ตามคำสั่ง ทำใจว่า หัวหน้าจ้างมาให้ทำ ไม่ได้ให้คิด

3.Purpose ที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยข้างต้น คือ จุดมุ่งหมายของงาน คนจะทำแค่ให้เสร็จๆผ่านๆไป หรือจะใส่ใจ บรรจงลงฝีมือเต็มที่เต็มความสามารถ ขึ้นอยู่กับการตระหนักว่างานนั้นสำคัญขนาดไหน

หากช่างปูน ก่ออิฐเพียงให้เสร็จๆ ก็คงได้ผลงานเป็นกำแพงแบบหนึ่ง แต่หากเขาตระหนักว่า งานนั้นเป็นผนังของโบสถ์วิหาร ที่คนจะเข้ามากราบกรานทำบุญ อิฐแต่ละก้อนคงถูกบรรจงวางอย่างประณีตต่างกัน

ทั้งนี้ ไม่ว่างานจะยิ่งใหญ่หรือน้อยนิด ก็คิดให้เป็นประโยชน์ได้ ด้วยความใส่ใจและได้แรงกระตุ้นจากหัวหน้า ยิ่งเขารู้สึกว่าเขาทำได้ แถมหัวหน้าให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ

ถึงไหน ถึงกัน