ปัญหาใหญ่คือไทยทั้งประเทศกำลังตกต่ำ

ปัญหาใหญ่คือไทยทั้งประเทศกำลังตกต่ำ

ปัญหาของประเทศที่ใหญ่กว่าเรื่องที่พรรคและกลุ่มการเมืองทะเลาะกันคือ ความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของไทยโดยรวมแล้วกำลังตกต่ำ

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามตัวเลขทางบัญชี (Nominal) อยู่ในอันดับที่ 31 ของประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำลงจาก 5 ปีก่อน (พ.ศ. 2548) ที่ไทยเคยอยู่อันดับที่ 22 ของโลก แสดงว่าในช่วงแค่ 5 ปี มี 9 ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจและสูงกว่าไทยแซงไทยไปได้ ทั้งๆ ที่บางประเทศมีขนาดประชากรน้อยกว่าไทยด้วย

หากคิดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แบบปรับตามค่าครองชีพ ไทยจะมีลำดับดีกว่า GDP ตามตัวเลขทางบัญชีเล็กน้อย GDP แบบปรับด้วยค่าครองชีพแล้ว ต่อหัวประชากรไทย ที่ 9,396 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2554 อยู่อันดับที่ 86 ของประเทศทั่วโลก (ลดลงจากอันดับ 72 เมื่อ 5 ปีก่อน) ไทยจึงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ทั้งๆ ที่ไทยมีประชากรและทรัพยากรการเกษตรมากเป็นอันดับ 19-20 ของโลก

ไทยมีประชากรราว 64 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก พอๆ กับฝรั่งเศส และอังกฤษ แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้ แต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจ (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ-GDP) ใหญ่กว่าไทยราว 10 เท่า เนื่องจากพวกเขาได้กระจายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษา ผลิตภาพการทำงาน และรายได้จับจ่ายใช้สอยสูงกว่าไทย เศรษฐกิจและการตลาดภายในประเทศของเขาจึงใหญ่กว่าไทยมาก

ไทยมีพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ผลิตอาหารได้เพียงพอกับการบริโภคและส่งออกข้าว ยาง และสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้อันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลิตภาพต่อหัวของเกษตรกร และผลผลิตต่อไร่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งภาคเกษตรไทยยังเน้นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยเกษตรเคมีที่ต้นทุนสูง ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาใหญ่คือไทยพัฒนาคุณภาพประชากรได้ต่ำและพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนา ที่ช่วยให้คนส่วนน้อยรวยขึ้นและไม่กระจายรายได้ไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรม ดัชนีสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI INDEX) ซึ่งแสดงถึงการกระจายรายได้ไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ของไทยสูงมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก (GINI INDEX อยู่ที่ 53.6) ในปี พ.ศ. 2552 คือมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกับคนจนสูงมาก ไล่เลี่ยกับประเทศล้าหลังในแอฟริกาและสูงกว่าประเทศในประชาคมอาเซียนทุกประเทศ

การกระจายรายได้ในหมู่ประชาชนที่ไม่เป็นธรรมมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจน ขาดกำลังซื้อ ทั้งๆ ที่ไทยมีประชากรมาก แต่ตลาดภายในประเทศกลับมีขนาดเล็ก ความยากจนยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่ได้ผลน้อย

อันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยเทียบกับประเทศอื่นที่จัดโดยสถาบัน IMD อยู่กลางๆ ค่อนไปทางท้าย คืออยู่ต่ำกว่าสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซียมาตลอด ในปี พ.ศ. 2555 IMD จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งตกต่ำลงจากปี 2552 ที่ไทยเคยได้อันดับที่ 26 (จากราว 65 ประเทศ)

IMD วิเคราะห์องค์ประกอบความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 4 ด้านคือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ สมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐ สมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และสมรรถนะด้านโครงสร้างพื้นฐาน (รวมทั้งพลังงาน การสื่อสาร โทรคมนาคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สุขภาพและสภาพแวดล้อม) ไทยได้คะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐานสุดท้ายต่ำที่สุด

ส่วนการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ของ World Economic Forum จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 43 ในพ.ศ. 2554-2555 ตกอันดับลงมาจากที่เคยอยู่อันดับที่ 34 ของปี 2551-2552 ดัชนีของ WEF ชี้วัดในด้านสถาบันภาครัฐและเอกชน นโยบายและปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งในระยะปัจจุบันและระยะกลาง เน้นเรื่องประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งเรื่องของการศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ที่วัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ไทยอยู่อันดับที่ 103 ของโลก ในปี 2555 ซึ่งนอกจากจะต่ำกว่าลำดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากแล้ว ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยยังได้อันดับที่ตกต่ำลงมาตลอดในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดัชนีการพัฒนามนุษย์ใช้ดัชนีชี้วัดรายได้ต่อหัวร่วมกับปัจจัยการพัฒนาด้านสังคม เช่น การศึกษาและสาธารณสุข อายุขัยเฉลี่ยของประชากรด้วย


ผลการทดสอบนักเรียนนานาชาติ อายุ 15 ปี ตามโครงการ PISA จัดโดย OECD ในวิชา การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยทำคะแนนเฉลี่ยได้ต่ำค่อนไปทางท้าย (การอ่านได้ลำดับ 53 จาก 65 ประเทศ) ทั้งคะแนนเฉลี่ยของไทยในการทดสอบ ปี 2553 ยังลดลงจากคะแนนเฉลี่ยในการทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2543 การทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนทั่วประเทศนี้วัดความสามารถในการนำความรู้ไปใช้งานได้ในอนาคต จึงสะท้อนว่าแรงงานไทยใน 10-20 ปีข้างหน้า จะมีคุณภาพต่ำกว่าแรงงานในหลายประเทศ

ดัชนีการปลอดคอร์รัปชันที่จัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศให้ไทยอยู่ลำดับที่ 88 ในปี 2555 ลดลงจากลำดับที่ 80 ในปี 2553-4 และลดต่ำลงจากเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ด้วย แสดงว่าไทยคอร์รัปชันมากขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมากสะท้อนความด้อยพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเมืองสังคม และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาและแข่งขันทางเศรษฐกิจสังคมกับประเทศอื่น

ดัชนีสำคัญๆ ทั้งหลายสะท้อนว่าไทยกำลังตกต่ำ คือ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาได้มากกว่าและแซงหน้าไทยขึ้นไป การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมสูง ขณะที่ดัชนีคอร์รัปชันก็เลวลงอีก ทำอย่างไรจึงจะช่วยกันหาทางทำให้ คนไทยลดความโง่เขลา และเห็นแก่ตัว การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ยุ่งอยู่กับการทะเลาะกันด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวและการเลือกข้างด้วยอารมณ์ มาหันมาสนใจตื่นตัวต่อปัญหาว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสังคมไทยทั้งประเทศกำลังตกต่ำกว่าประเทศอื่น เราควรมองการณ์ไกลและคิดการใหญ่เพื่อส่วนรวม ด้วยการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เน้นความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และพัฒนาได้ยั่งยืน (ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม) เราจึงจะเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาและความสามารถในการแข่งขันของทั้งประเทศได้