อนาคต "นางเสือง" ที่มี "กังนัมสไตล์"

อนาคต  "นางเสือง" ที่มี "กังนัมสไตล์"

นานๆ ที นานจริงๆ เป็นปีๆ ห้าปี สิบปี วาระที่วงดนตรีไทยดีๆ จะได้มาบรรเลงประกอบการร้องการรำ การพูดเจรจา แบบละครบนเวทีใหญ่

ซึ่งจะทำให้ได้ยินได้ฟังดนตรีไทย ในอีกมิติหนึ่งแบบเดียวกับการฟังวงดนตรีฝรั่งซิมโฟนีออเคสตราบรรเลงประกอบและดำเนินการแสดงการร้องการแสดงการเต้นอย่าง บัลเล่ต์ โอเปร่า และละครเพลง เกิดการผสมผสานของศิลปะหลายแขนงส่งสารร่วมกันทางอารมณ์ได้อย่างมีรสชาติเข้มขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะขณะนี้ที่ละครเพลง (musicals) ภาษาอังกฤษได้เริ่มยกพลพร้อมฉากเครื่องแต่งกายข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรป สหรัฐฯ มาให้เราชมถึงหัวกระไดบ้านแล้ว

ละครร้องมีเรื่องดีๆ ดนตรีดีๆ ฟังไปด้วย น่าจะมีอนาคตสดใสอยู่

ด้วยตั้งใจไปชมเฉพาะ “ศิลปะการแสดง” ล้วนๆ มิได้ตั้งใจจะไปรู้เนื้อหาเนื้อเรื่อง นางเสือง ละครดึกดำบรรพ์ ที่เคยเล่นเคยรู้กันมาแล้ว สมภพ จันทรประภา ผู้แต่งบทมีอัตลักษณ์ การประพันธ์แนวเดียวที่ยั่งยืนยาวนาน คือ ทั้งอิงทั้งอ้างและจินตนาการประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับผู้นำหรือกษัตริย์ วีรสตรี และหน้าที่ของผู้ใต้การปกครองพึงมีต่อชาติ ต่อผู้ปกครอง เป็นต้น

การชมครั้งนี้ จึงได้เทใจทั้งหมดฟังวงดุริยประณีตที่เล่นอย่างมืออาชีพ ได้ประจักษ์ความงามของ (นัก) ดนตรีที่รังสรรค์เสียงจากเครื่องดนตรีมาร่วมแสดงอารมณ์ แสดงการดำเนินเรื่องได้อย่างสมบท ได้เห็นศักยภาพสูงมากๆ ในการร้อง การรำ การแสดงของฝีมือหนุ่มสาวมือสมัครเล่นที่มีภาระการแสดงอื่นๆ การเนรมิตภูษาพัสตราภรณ์เครื่องแต่งกาย ของ โกมล พานิชพันธุ์ ฉากฝีมือ สุธี ปิวรบุตร เจ้าเก่า ผู้กำกับการแสดง การกำกับเวที การกำกับฝ่ายศิลป์ ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบนเวทีกับผู้ชมที่มีชีวิตชีวาทีเดียว

มีรายการแทรกไม่มีอยู่ในสูจิบัตร คือ ในตอนท้าย องก์ 1 ที่ทหารพ่อขุนบางกลางท่าวเริ่มออกเดินทาง พิณพาทย์ทำเพลงเชิด อัศวลีลา โยนท้ายคลื่นกระทบฝั่ง เมื่อปิดม่าน กองทหารม้านุ่งโจงกระเบนสีแดงร่วมร้อยกรีธาทัพออกมาใหม่ มีผู้นำทัพสวมแว่นตาดำ เต้น “กังนัมสไตล์” อย่างมันในอารมณ์ทั้งผู้เล่นผู้ชม ขนาดต้องเชิญให้ทั้งวัยเด็กวัยดึกขึ้นมาเต้นกันใหม่บนเวทีก่อนจะเริ่มองก์ 2

เพลงที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเพลงหน้าพาทย์ธรรมดาประกอบกิริยาอาการผู้แสดง เช่น รัว เชิด ทยอย ฯ ทำนองประกอบเพลงร้องเป็นทำนองสามัญ เช่น ลาวดวงเดือน ลาวเสี่ยงเทียน ฯ แต่คุณภาพของ (นัก) ดนตรีสกุลดุริยประณีตที่เก่งในทางนี้ ทั้งดนตรี ทั้งรู้การร้อง รู้จังหวะ รู้ทาง ไปเสียหมด ตอนไหนดนตรีเสียงเบา ดัง รับ ส่ง ทำนองร้อง บรรเลงเปิดฉากเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง การเดี่ยวซออู้คลอเสียง ทอดเสียง ฯ จึงสอดประสานกับการร้องการแสดงอย่างแนบเนียนเป็นเนื้อเดียว

ด้วยละครดึกดำบรรพ์ผสมวงดนตรีขึ้นใหม่ ใช้วงปี่พาทย์ แต่ตัดเอาเครื่องดนตรีเสียงสูง แหลม เล็ก หรือดังมากๆ ออก เหลือแต่เสียงทุ้มนุ่มนวล ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดำเนินทำนอง ได้แก่ ระนาดเอก (อาจารย์สืบศักดิ์ ดุริยประณีต) ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวง ขลุ่ย ปี่ และซออู้ เครื่องดนตรีกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง กรับ ตะโพน กลองทัด กลองแขก โทนชาตรี (สำหรับเพลงเขมร) โหม่ง โดยเฉพาะการบรรเลงระนาด ทุ้มไพเราะเสนาะหูยิ่ง แม้แต่เสียงกลองที่มักได้ยินเพียงให้จังหวะ หรือรัว แต่ในละครร้อง เมื่อกลองทัดตีดังมาก ตูม ! ครั้งเดียวสอดรับทันควันบทพูดหลายครั้ง โดยเฉพาะบทบริภาษ (พวกขอมในเรื่อง) อันเป็นลักษณะเด่นทีเดียวในบทละครของสมภพ จันทรประภา ก็ได้อารมณ์แสดงอำนาจอย่างยิ่ง ได้รสชาติเสียงกลองทัดอีกมิติหนึ่ง

ส่วนผู้แสดงวัยสาวหนุ่มผู้มีชื่อเสียงบนจอเงินจอแก้ว ต่างได้แสดงความเป็นศิลปินและยังอยู่ในวัฒนธรรมร้องรำของไทยรัตนโกสินทร์ได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เต้นกินรำกินละครร้องรำเช่นนี้เป็นอาชีพเลย ซ้อมเพียง 6 เดือนภายใต้ข้อจำกัดมากมาย สามารถร้อง รำ เล่น และแสดงได้ขนาดนี้นับว่ามีศักยภาพมาก บางคนร้องอ่อนไปบ้างก็อนุโลม บ้างที่ศึกษาอยู่ในคณะศิลปกรรม หรือ สถาบันพัฒนศิลป์อยู่แล้ว พวกเขาได้ให้ความอุ่นใจว่า แม้คณะละครร้องละครรำอาชีพจะสูญสิ้นไปหมดแล้วในประเทศนี้ วงดนตรีปี่พาทย์ต่างๆ ก็ลดน้อยถอยลง โอกาสเล่นโอกาสชมละครร้องละครรำแทบไม่มี แต่การสืบทอดศิลปะและจิตวิญญาณในหมู่พวกเขานั้น ศิลปินทุกแขนง ขอย้ำว่าทุกแขนง ยังมีเชื้อไฟที่รอการจุดติดอยู่อย่างเต็มเปี่ยมทั้งๆ ที่ต้องซ้อมต้องเล่นแบบ “อาสาสมัคร” มากกว่าจะมีค่าตอบแทนเป็นเม็ดเงินอันใด เล่น 15 รอบ ผู้แสดงกว่า 300 คน ซ้อมนาน 6 เดือน ไหนจะต้นทุนเครื่องแต่งกายและฉากตามแบบฉบับละครดึกดำบรรพ์ที่ต้องอลังการและมีรำตระการตาในตอนท้าย ฯ งบ 8 ล้านบาทไม่มากเลย

ลองจินตนาการดูว่าหากในวันนี้ในยุคสมัยการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ ณ ที่ไหนสักแห่ง มีนักประพันธ์สักคนหรือหลายคน จะมีหรือไร้ชื่อเสียง พยายาม “ปรุง” บทใหม่ จะรื้อสร้าง หรือเขียนใหม่ แล้วแต่ชอบใจ ทำให้สนุกสนานและท้าทายสติปัญญา เห็นว่าเนื้อเรื่องควรแปลงควรเปลี่ยน ตีความเพิ่มเติมจากการอ้างการอิงหรือการจินตนาการประวัติศาสตร์ ชนชาติไทย ขอม พม่า มอญ ฯ ที่เคยมีมาแต่เดิม ตลอดจนกระตุ้นสำนึกผู้คนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรามีเพลงออกสิบสองภาษาพร้อมอยู่แล้ว ออกภาษาไทย ออกภาษาเขมร ออกภาษาลาว พม่า ชวา ญวน แขก ฯ มีไปถึงสำเนียงญี่ปุ่น สำเนียงเกาหลี สำเนียงจีน สำเนียงฝรั่ง ให้เลือกบรรเลงครบครัน ไฉนเลยทั้งคนเล่นคนดูจะไม่รับคำท้า

จำอวดเล็กๆ “กังนัมสไตล์” บนเวที “นางเสือง” ดูเหมือนจะส่งสารว่า ศิลปินทุกแขนงผู้อยู่บนและหลังเวที (รวมผู้ชม) พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และอาจรออยู่อย่างกระหายด้วยซ้ำไป