เขื่อนในแม่น้ำโขง

เขื่อนในแม่น้ำโขง

ลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุต่างๆ และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี

มีประชากรประมาณ 300 ล้านคน อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สามารถปลูกข้าวมีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตันต่อปี ทำการประมงและผลผลิตจากแหล่งนิเวศน์น้ำสูงมากถึง 2 ล้านตันต่อปี (Mekong River Commission 2005)

แต่ภายหลังเมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงและการสร้างเขื่อนในประเทศจีนได้ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนแปลงและลดลง นับตั้งแต่ปริมาณน้ำ ทรัพยากรป่าไม้และที่ดินต่างได้รับผลกระทบเช่นกัน (ยศ สันตสมบัติ 2552: 55)

การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนหรือแม่น้ำล้านช้าง (Lanchang) จีนเป็นประเทศแรกที่เข้ามามีบทบาทในเขตมณฑลยูนนาน โดยเริ่มสร้างเขื่อนแห่งแรก คือเขื่อนม่านวาน (Manwan) สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2539 และมีโครงการจะสร้างเขื่อนอีก 8 แห่ง

นอกจากนี้ในประเทศลาว และกัมพูชา ยังมีแผนจะก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในลำน้ำโขงอีกหลายแห่ง โดยในประเทศประเทศลาวและกัมพูชา มีการวางแผนจะก่อสร้างเขื่อนจำนวน 12 แห่ง มีเป้าหมายเพื่อที่จะขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย และเวียดนาม ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มากจากจีน ไทย และเวียดนาม ส่วนเขื่อนที่จะสร้างในแม่น้ำโขง อาทิเช่น เขื่อนไซยบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนสตึงเตร็ง ฯลฯ

“…และยังมีแผนก่อสร้างอีก 77 เขื่อนบริเวณลุ่มน้ำโขงภายในปี 2573 จากการศึกษาหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่งเกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้ จำนวนปลาที่มีอยู่จะลดลงไปร้อยละ 16 และมีการประเมินว่าจะสร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจปีละกว่า 14,000 ล้านบาท (476 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 88 แห่งจริง จำนวนปลาจะลดลงไปถึงร้อยละ 37.8…และพื้นที่ 1,350 ตารางกิโลเมตร ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อใช้เป็นเขื่อนกั้นน้ำแล้ว” (WWF International: ออนไลน์)

การสร้างเขื่อนจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาล โดยจะทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ริมฝั่งโขงทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย และมีความหวาดวิตกว่าจะทำให้พันธุ์ปลาหลายชนิดที่ว่ายทวนน้ำไปวางไข่ทางตอนเหนือ เช่น ปลาบึก มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์เกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่เป็นแหล่งที่อยู่ของปลาก็จะจมหายไปกับกระแสน้ำ รวมถึงพื้นที่ริมฝั่งโขงก็จะไม่สามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งจะกระทบกับผู้คนสองริมฝั่งโขงกว่า 60 ล้านคน

ในส่วนของระบบนิเวศน์และพันธุ์ปลา แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีทรัพยากรปลาที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ในลุ่มน้ำโขงมีพันธุ์ปลามากถึง 1,300 ชนิด ซึ่งร้อยละ 50 ของพันธุ์ปลาจำนวนดังกล่าวเป็นพันธุ์ปลาที่พบเฉพาะในลุ่มน้ำโขง (Jensen: 1996 อ้างใน ยศ สันตสมบัติ 2552: 55) จากปริมาณน้ำที่ไม่แน่ไม่นอนอันเป็นผลกระทบมาจากการสร้างเขื่อนจำนวนมากในประเทศจีน รวมถึงการขึ้นลงของกระแสน้ำที่ขึ้นลงอย่างไม่ปกติ ก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาทำให้จำนวนปลาชนิดต่างๆ ในลำน้ำโขงลดจำนวนลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาอีกหลายชนิด ส่วนสาเหตุหลักมาจากการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำของเขื่อนในประเทศจีนและการระเบิดแก่งหินปรับปรุงลำน้ำ เพื่อการเดินเรือพาณิชย์

การสร้างเขื่อนจะก่อให้เกิดผลกระทบนานัปการ อาทิเช่น

ประการแรกคือ การควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศจีนทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การไหลของน้ำที่เชี่ยวกรากได้พัดพาตะกอนใต้น้ำทำให้น้ำขุ่นกว่าปกติ การขึ้นลงของระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไปทำให้ปลาหลายชนิดเกิดความสับสนการอพยพและการผสมพันธุ์ไม่เป็นไปตามฤดูกาล จำนวนพันธุ์ปลาต่างๆ จึงค่อยๆ ลดจำนวนลงและไม่อพยพเข้าไปยังแหล่งผสมพันธุ์และวางไข่

ประการที่สองระบบนิเวศน์ในลำน้ำก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น เช่น พืชพรรณต่างๆ อาทิเช่น ไก (ตะไคร้หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง) มีจำนวนและปริมาณลดลง ไกสามารถนำมาแปรรูปเป็นไกแห้ง ไกแผ่นขาย หรือจะขายเป็นไกสดเลยก็ได้ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่ แต่เมื่อเขื่อนจีนกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำตามความต้องการ การขึ้น-ลงของน้ำที่ขึ้นเร็ว ลงเร็ว กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดพาเอาตะกอนมาติดไก ระยะเวลาขึ้น-ลงของน้ำไม่เป็นไปตามปกติธรรมชาติทำให้แม่น้ำที่มีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตของไกเปลี่ยนไป ไกจึงลดจำนวนลงและไกที่เหลืออยู่ก็ไม่มีคุณภาพ ทำให้แหล่งอาหารของปลาและผู้คนลดลง

ประการที่สามจากระดับน้ำที่ขึ้นลงเร็วผิดปกติและแก่ง/ผาที่เป็นแหล่งกำเนิดพืชน้ำถูกระเบิดทิ้ง ทำให้อาหารของปลากินพืชลดจำนวนลง ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์สั่นคลอน แหล่งอาหารของปลากินพืชลดลง ปลาขาดแคลนอาหารและมีจำนวนลดลง ปลานักล่าที่ล่าปลากินพืชเป็นอาหารก็หาอาหารยากขึ้น งานวิจัยจาวบ้าน (2549 : 25) มีพื้นที่วิจัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายพบว่าในพื้นที่วิจัยมีปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่ง/ผา 15 ชนิด หากินตามระบบนิเวศย่อยมากกว่า 1 ระบบนิเวศ

ประการที่สี่การเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่สร้างคลื่น เสียงเครื่องยนต์และคราบน้ำมันลงสู่ลำน้ำส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของปลา คนหาปลาระบุว่า เสียงและคลื่นจากเรือจะรบกวนการอพยพหรือการออกหากินของปลา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนหาปลาจับปลาได้น้อยลง (งานวิจัยจาวบ้าน 2549 : 57)

ประการที่ห้าการพังทลายของตลิ่งสองฝั่งโขง รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินริมฝั่งโขงได้ทำให้พื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงลดลง และส่งผลต่อดินดอนในแม่น้ำที่เกษตรกรใช้ทำการเกษตรในช่วงน้ำลดไม่สามารถทำได้เนื่องจากระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่แน่นอน ทำให้พืชผักที่ปลูกในดินดอนในแม่น้ำเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมแบบฉับพลันสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรทำให้การทำการเกษตรในดินดอนในแม่น้ำโขงลดลงเช่นกัน (เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2546: 56)

ในปัจจุบัน สถานการณ์ของแม่น้ำโขงยังอยู่ในขั้นวิกฤติ หากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแล้วเสร็จ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อผู้คนสองริมฝั่งโขง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาระดับสากลและใหญ่เกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะแบกรับได้ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญ ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน (ศิริพร และปรียาวัลย์ 2551: 30) เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับแม่น้ำโขงเป็นผลกระทบต่อคนหลายสิบล้านคน และมีอาณาบริเวณกว้างขวาง และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนยากที่จะแก้ไข


โครงการ ความสัมพันธ์ไร้พรมแดน : การจัดการทรัพยากรสองริมฝั่งโขง ของชาวเชียงแสน-เชียงของ และต้นผึ้ง-ห้วยทรายสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)