บีโอไอ เผยยอดส่งเสริมอีวีสะสมกว่า 1 แสนล้าน เร่งลงทุน รับดีมานด์ในประเทศโต

บีโอไอ เผยยอดส่งเสริมอีวีสะสมกว่า 1 แสนล้าน เร่งลงทุน รับดีมานด์ในประเทศโต

บีโอไอ เผยยอดส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบพุ่งกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งการผลิตรถยนต์ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จ เร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมลงทุน รองรับทิศทางอุตสาหกรรมและดีมานด์ในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก จึงได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย นโยบาย 30@30 ให้ภายในปี ค.ศ.2030 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือ 725,000 คัน จากทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคัน 

โดยปีที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งมาตรการส่งเสริมผู้ลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และมาตรการสร้างตลาดในประเทศโดยกระทรวงการคลังให้เงินอุดหนุน ลดอากรนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวเริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านการลงทุนและความสนใจของผู้บริโภคในประเทศ

โดยบีโอไอ ได้การส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยได้มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่  

จากข้อมูลล่าสุด บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้วแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

1. การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากทั้งค่ายรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป

ในจำนวนนี้เป็นการผลิตรถยนต์ BEV จำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท กำลังการผลิตรวม 270,000 คัน โดยขณะนี้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท  

2. การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,400 ล้านบาท การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง 

สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,300 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน(DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาทและ 

3. กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มี 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 11,300 หัวจ่าย ซึ่งเป็นแบบ Quick Charge กว่า 5,400 หัวจ่าย  

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ให้การส่งเสริมโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ EV อีกหลายโครงการ เช่น ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของระบบในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งใน Vehicle Control Unit (VCU) แพลตฟอร์มควบคุมและบริหารจัดการการเดินรถ (Fleet Management) แอปพลิเคชันสำหรับค้นหา จอง ชำระค่าบริการและบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้สูงถึงกว่า 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดที่มากกว่า 9,000 คัน 

ขณะที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ได้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น MG, Great Wall Motor, BYD, NETA, Foxconn รวมทั้งรายล่าสุดอย่าง GAC AION จากประเทศจีนที่ได้หารือกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทยด้วย