มาตรการส่งเสริมแบต“อีวี” รัฐบาลอย่าล่าช้าจนเกินไป

มาตรการส่งเสริมแบต“อีวี” รัฐบาลอย่าล่าช้าจนเกินไป

การพิจารณามาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีทั้งการอุดหนุนเงินและการยกเว้นภาษี โดยรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่รัฐบาลไม่ควรล่าสุดจนเกินไป เพราะอาจเสียโอกาสในการสร้างความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของโลก โดยในปี 2565 รถยนต์ใหม่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ที่จำหน่ายในประเทศจีนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (บีอีวี) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (พีเอชอีวี) หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้มีมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่จนสาสมารถสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาได้และมีผู้ผลิตในประเทศจนกระทั่งเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศดาวรุ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาตรการสำคัญเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการส่งเสริมการตลาดด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนกับผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมจักรยานยนต์ รถยนต์และรถกระบะตั้งแต่คันละ 70,000-150,000 บาท ส่งผลให้ยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และในปี 2566 บริษัทรถยนต์ประเมินว่าจะเป็นปีทองของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ถึงแม้ว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด แต่ยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันในแง่ความต้องการซื้อเริ่มขยายตัวต่อเนื่อง  และหลังจากนี้ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาสถานีหรือจุดอัดประจุไฟฟ้าที่จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีความสะดวกใกล้เคียงกับการใช้รถยนต์สันดาป

รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เพราะราคาที่สูงในปัจจุบันมาจากราคาแบตเตอรี่เป็นหลัก โดยภาครัฐมีแนวทางการสนับสนุนใกล้เคียงกับมาตรการส่งเสริมตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานได้พิจารณามาตรการส่งเสริมที่กรมสรรพสามิตเสนอมาหลายรอบนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565

แน่นอนว่าการพิจารณามาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ที่มีทั้งการอุดหนุนเงินและการยกเว้นภาษีทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไม่ควรล่าสุดจนเกินไป เพื่อสร้างโมเมนตัมของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าให้ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เร่งรัดให้บอร์ดอีวีคลอดมาตรการออกมา เพราะถ้าช้าจะเสียโอกาสในการสร้างความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค