'EV' ไทยคึกคัก 'BYD' จ่อตั้งไลน์การผลิต ลุ้น ‘Tesla’ – ‘Volkswagen’ ลงทุน

'EV' ไทยคึกคัก 'BYD' จ่อตั้งไลน์การผลิต ลุ้น ‘Tesla’ – ‘Volkswagen’ ลงทุน

การลงทุน EV ในไทยคึกคัก ค่ายรถยนต์จ่อลงทุนเพิ่มอีกหลายค่าย "คณิศ" เผย BYD จ่อขอบีโอไอลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท ส่วนTesla - Volkswagen อยู่ระหว่างตัดสินใจ ชี้นโยบาย EV ไทยพร้อมสุดในอาเซียน ใช้เป็นหนึ่งในนโบายผลักดันการลงทุนในอีอีซีอีก 5 ปีข้างหน้า

ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาคอาเซียนโดยตั้งเป้าที่จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของการผลิตรถทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 หรือภายในปี พ.ศ.2573 เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต และรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกไว้อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกนโยบายสนับสนุนให้ตลาดรถ EV ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งมาตราการลดภาษี และการร่วมกับค่ายรถยนต์ทำมาตรการจูงใจโดยสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถ EV

ขณะเดียวกันได้มีการชักชวนบริษัทผู้ผลิตรถชั้นนำให้เข้ามาผลิตรถ EV ในประเทศไทย โดยที่ประกาศการลงทุนอย่างแน่นอนแล้วมีหลายเจ้า เช่น เกรทวอลล์มอเตอร์ MG ส่วนค่ายรถญี่ปุ่นอย่างบริษัท โตโยต้านั้นตัดสินใจเข้าโครงการส่งเสริมรถ EV ของไทยตั้งแต่มีการประกาศมาตรการ EV3

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่าบริษัทชั้นนำที่จะมีการลงทุนรถ EV ในไทยขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้นโดยรายที่จะมีจะมีการขอส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (อีอีซี) เร็วๆนี้ ได้แก่ บริษัท BYD  Auto ที่จะมีการลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งไลน์การผลิตในไทย ทั้งนี้ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมด้วยว่าขอให้มีการลงทุนที่มากขึ้นในประเทศไทย

สำหรับค่ายรถยนต์ชั้นนำอื่นๆที่ได้มีการเจรจาเพื่อชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยได้แก่ บริษัท เทสล่า มอเตอร์ และบริษัท ฟ็อลคส์วาเกิน ประเทศเยอรมัน ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนอีอีซีให้มีการเติบโตต่อเนื่องไปข้างนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถ EV ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมให้เป้าหมายการลงทุนในอีอีซีปีละ 4 – 5 แสนล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมายได้ โดยในเรื่องของ EV รัฐบาลไทยถือว่านำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป  ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิตรถยนต์อีวี เข้ามาลงทุนใน อีอีซี รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ด ยังได้อนุมัติการลงทุนให้กับบริษัท BYD จากประเทศจีน ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก PHEV มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท ที่จะต้องลงทุนในกรอบเวลา 3 ปี นับจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น คาดว่า BYD จะเริ่มผลิตในปี 2567

\'EV\' ไทยคึกคัก \'BYD\' จ่อตั้งไลน์การผลิต ลุ้น ‘Tesla’ – ‘Volkswagen’ ลงทุน

ก่อนหน้านี้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดึงดูดลงทุนในอุตสาหกรรมรถ EV ในไทยว่าได้มีการพูดคุยกับค่ายรถยนต์ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของค่ายรถญี่ปุ่นที่กำลังตัดสินใจอยู่ก็มีทั้งฮอนด้า และมิตซูบิชิ ส่วน ส่วนค่ายรถยุโรปอย่างในเยอรมันก็ได้หารือกับสองค่ายใหญ่แล้ว อีกประมาณ 1 เดือนจะได้ความชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมก็จะมีเรื่องของสถานีชาร์จออกมาเพิ่มเติมภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

แผนงานทุกอย่างกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอนและอยู่ในช่วงที่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญ โดยในส่วนแรกเป็นแผนเรื่องการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)ในประเทศไทย

โดยในแผนนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ชัดเจนในเรื่องของดีมานต์ภายในประเทศ ซึ่งจำนวความต้องการของรถ EVในประเทศเป็นตำตอบที่สำคัญให้ค่ายรถยนต์ต่างๆจะไม่ย้ายฐานการผลิต และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV เพื่อป้อนตลาดในไทยและอาเซียน ขณะนี้ประเทศไทยมีรถอยู่ 30 ล้านคันที่เป็นรถน้ำมัน เราต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเปลี่ยนจากรถน้ำมันเป็นรถ EV

ส่วนประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างอินโดนิเซียนั้นยอดขายรถ EV นั้นยังทำได้น้อยมาก ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 300 คัน ขณะที่ประเทศไทยนั้นยอดจองของเราในปีนี้เป็นรถ EV ถึง 10% ของรถที่ขายได้ทั้งหมด ตรงนี้บอกชัดเจนว่านโยบายเรื่องนี้เรามาถูกทาง ประกอบกับที่ตั้งของไทยนั้นอยู่กึ่งกลางของอาเซียนก็เหมาะที่จะลงทุนในไทยเพื่อให้เป็นฐานในการผลิต EV เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆต่อไป