เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ  ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

อีกไม่นานประเทศไทยจะความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น ด้วยอานิสงฆ์จาก “เมกะโปรเจ็คท์” ระดับแสนล้านบาทของภาครัฐ ที่มีนโยบายการส่งเสริมการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งประเทศ ที่ไม่เพียงหวังเป็นพื้นฐานหลักที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค แต่ในระดับประชาชน การคมนาคม อย่างรถไฟฟ้าในเมือง หรือข้ามเมืองกำลังเชื่อมต่อการเดินทางและรองรับการใช้ชีวิตคนไทยมากขึ้น

แต่กระนั้นเอง ในสารพันโครงการคมนาคมทั้งประเทศที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ ราง หรืออากาศ กลับมีการเอ่ยถึงเรื่องระบบสาธารณะขนส่งของประชากรกลุ่มหนึ่งในสังคมไว้น้อยมาก

นั่นคือ “กลุ่มผู้พิการ” ซึ่งประเทศไทยเรามีประชากรกลุ่มนี้ราว 1.8 ล้านคน และไม่นับรวมผู้สูงอายุ กลุ่มประชากรที่กำลังมีจำนวน12 ล้านคนในปัจจุบัน

เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ  ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

หนึ่งเสียงที่ช่วยฉายภาพเรื่องนี้คือ สว่าง ศรีสม ผู้แทนเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารสาธารณะ แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถเมล์ชานต่ำจำนวนกว่า 500 คันวิ่งให้บริการแล้ว แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากมีให้บริการเพียงบางสาย จากทั้งหมด 113 สาย ใน 8 เขตการเดินรถ

“นอกจากนี้ รถไฟฟ้ายังมีไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ บางสถานียังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มากกว่าร้อยละ 50 ของสถานีมีลิฟต์ไม่ครบทุกทางเข้าออกที่จำเป็น เป็นต้น ดังนั้น แท็กซี่จึงเป็นตัวเลือกที่สำคัญสำหรับคนพิการในการเดินทาง”

แต่เพราะคนพิการมักประสบปัญหาในการใช้งานรถแท็กซี่ เช่น วิธีการให้บริการที่ไม่เหมาะสม ไม่มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก การสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ระหว่างคนขับและผู้โดยสารพิการ เช่น ปฏิเสธการรับคนพิการอย่างสิ้นเชิงหรือไม่เต็มใจให้บริการ รถแท็กซี่มีถังแก๊ส ทำให้ไม่สามารถพับเก็บรถวีลแชร์ไปได้ ไม่มีสายรัดวีลแชร์ ไม่รู้วิธีพับเก็บรถวีลแชร์ที่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้รถเข็นเสียหายได้ ไม่รู้วิธีช่วยพยุงหรืออุ้มคนพิการ ผู้สูงอายุที่ถูกต้องเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของคนพิการ และตัวผู้ขับแท็กซี่เอง เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดบรรยากาศที่กระอักกระอ่วนใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่รับคนหูหนวกเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกันได้ เป็นต้น

เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ  ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

 “เมื่อก่อนเราไม่มีทางเลือกในการเดินทาง จำเป็นต้องใช้แท็กซี่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสนับสนุนการเดินทางเรามากขึ้น เราเริ่มเห็นรถเมล์ชานต่ำ และยังมีแอปพลิเคชันเรียกรถที่ทำให้การเดินทางอำนวยความสะดวก ปลอดภัย และมีทางเลือกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะยังมีในเรื่องการออกแบบสภาพแวดล้อมที่สาธารณะที่ไม่สะดวกต่อผู้พิการ เช่น การออกแบบทางเท้า ทางลาด เป็นต้น” อีกเสียงบอกเล่าของ นันทิดา จิตภักดีรัตน์ที่ช่วยสะท้อนปัญหาระบบขนส่งสาธารณะบ้านเรา ที่ยังไม่เอื้อต่อประชากรอีกกว่าร้อยละ 3 ในประเทศ        โดยเธอยังฝากความหวังว่า

“เราหวังอย่างเดียวตอนนี้ คือรถไฟฟ้าที่กำลังสร้าง เราไม่ได้เรียกร้องว่าจำเป็นต้องมีลิฟต์ทุกสถานี แต่เราขอมีทางลาดที่เข้าถึงได้หรือไม่ เพราะคนพิการมีหลายระดับ คนพิการที่ยังแข็งแรงเขาใช้ได้ คือเรามองไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมต้องเป็น บันไดทุกสถานี”

เมื่อใครๆ ก็ปรารถนาอยากเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว เชื่อมต่อไม่ต่างกัน รวมถึง คนพิการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 1.2 แสนคน

อีกทั้งเพื่อให้ระยะทางของ “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยไม่อยู่ห่างไกลกันเกินไปนัก จึงต้องเริ่มที่การสร้างโอกาสความเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของผู้พิการ

อีกหนึ่งทางเลือกที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ริเริ่มให้การสนับสนุนภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อคนทุกกลุ่มในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ให้กับพาร์ตเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้พิการ พร้อมแนะนำเทคนิคและวิธีการในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการประเภทต่างๆ เพื่อให้สามารถให้บริการการเดินทางที่สะดวกสบายและตอบสนองความต้องการของผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุได้อย่างเข้าถึงมากที่สุด

เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ  ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

โครงการนี้ได้กลายเป็น “โอกาส” ใหม่สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้วีลแชร์ในการเดินทาง ซึ่งต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น การพยุง การอุ้ม การพับเก็บวีลแชร์ เป็นต้น

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) เอ่ยว่า สสส.เป็นอีกหน่วยงานที่จะหนุนเสริมกับเจ้าภาพนั่นคือภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดบริการที่เป็นมิตรและปลอดภัยกับผู้พิการและผู้สูงอายุ

“แท็กซี่เป็นรูปแบบการเดินทางหนึ่งที่สำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ​ซึ่งมีคนพิการหลักแสนคน ดังนั้นสิ่งที่ทำคือการพัฒนาคุณภาพ จึงหนุนเสริมทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในการพัฒนาการบริการที่เอื้ออาทร”

อย่างไรก็ดี ภรณีเอ่ยว่า ในอนาคตพลวัตการเดินทางที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าระบบรางที่กำลังเกิดการขยายขึ้นจะมีบทบาทอย่างมาก

“เราเองก็ช่วยเฝ้าระวังและวางแผนภาพอนาคตที่ไปข้างหน้า การเดินทางไร้รอยต่อเช่นเดียวกับคนทั่วไป อยากให้มีคนมาช่วยมองภาพอนาคตให้ไปด้วยกัน”

ชณัฏฐ์ชนม์ ทิวาพัฒน์ ผู้ขับแท็กซี่สาธารณะ ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการรุ่นที่ 3 เล่าเหตุผลที่มาสมัครเข้าร่วมอบรม เพราะมองว่าโครงการนี้ ตรงกับความตั้งใจของตนเอง และยังทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น

“ตอนก่อนจะมาอบรม เวลาให้บริการผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ เราก็ไม่กล้า กลัวทำผิดทำถูก เพราะเราไม่มีความรู้ เช่น สิ่งหนึ่งที่เราไม่รู้มาก่อนคือ การที่เราเข้าไปช่วยโดยที่เขาอาจไม่อนุญาตหรือไม่ได้ต้องการ เขาก็ไม่ชอบใจ เพราะเราต้องให้เกียรติเขา แต่พออบรมทำให้เรารู้วิธีปฏิบัติต่อผู้โดยสารพิการที่ถูกต้อง เหมาะสม และเท่าเทียม

 “สำหรับผมอย่างหนึ่งที่ได้แน่นอนคือคุณจะรู้สึกดีมีความสุขที่ได้ส่งเขาถึงบ้านปลอดภัย” ชณัฏฐ์ชนม์เผยความรู้สึก

 “ซึ่งเราภูมิใจที่ได้อบรม มันเป็นการบอกว่าเรามีผลงานดี และอัพเกรดขึ้นมาว่าเราผ่านอบรมตรงนี้ แล้วลูกค้าก็รู้สึกดีใจมีความสุขกับการเดินทาง และเขามั่นใจ”

แต่เขายอมรับว่า แม้จะมีบ้างที่ผู้ให้บริการบางคนอาจมองว่าบริการนี้ทำให้เสียเวลา ต้องทำอะไรมากขึ้น

“จริงๆ ราคามันถูกบวกรวมอยู่แล้ว ซึ่งแม้ไม่ได้มากแต่เราก็พอใจนะ อย่างผมเคยไปส่งผู้พิการที่สนามบิน ปกติแท็กซี่ไม่สามารถจอดที่สำหรับคนพิการได้ แต่เรามีผู้โดยสารพิการสามารถจอด แล้วเดินติดต่อประสานเจ้าหน้าที่ให้มารับลูกค้าเราไปก็เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอาจริง มันใช้เวลาแค่ไม่ถึงสิบนาทีเอง”

เเท็กซี่ผ่านเเอปฯ  ทางเลือกการเดินทางของผู้พิการ ที่เรียกได้ไม่ต้องเฟล

ด้าน สุวดี เฟื่องโคตร ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท GRAB TAXI หนึ่งในแอปพลิชั่นด้านการขนส่งที่ร่วมโครงการนี้ เอ่ยว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทให้การอบรมกับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการไปแล้ว 5 รุ่น จำนวน 256 คน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะถูกเพิ่มอยู่ในช่องทางบริการ Grab Assist ของแกรบ ซึ่งเป็นฟังก์ชันบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ อาทิ ผู้พิการและผู้สูงอายุ

“เรามีประกาศผ่านช่องทางสื่อสารผู้ขับที่สนใจเข้าร่วมอบรม ซึ่งมีผู้สนใจเยอะกว่านั้น แต่เราทำได้แค่ครั้งละ 50 คน จึงเลือกผู้ขับที่มีประวัติการให้บริการดีเป็นอันดับแรก แต่ในอนาคตเราอยากให้มีบริการนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะมองว่าผลพลอยได้จะดีกับสังคมทั้งหมด เพราะผู้พิการไม่จำเป็นต้องใช้บริการผ่านแกรบ อาจโบกเรียกก็มีโอกาสได้รับบริการจากแท็กซี่มืออาชีพเหล่านี้ได้”

สุวดีกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่มีเรารู้ว่าคนขับต้องการอะไร ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมโครงการนี้ได้รับความนิยมและขยายตัวมากขึ้น ต้องอยู่ที่เรื่องราคาและจำนวนผู้ให้บริการที่มีเพียงพอ เพื่อให้ผู้โดยสารเรียกใช้บริการมากขึ้น

“แกรบ แอสซิสจะเป็นผู้ขับแท็กซี่ล้วน เพราะที่ไม่เปิดให้ผู้ขับส่วนบุคคล เนื่องจากมาตรฐานรถอาจไม่ได้สำหรับคนพิการ ซึ่งเราได้คุยกับฝั่งผู้โดยสารกลุ่มพิเศษแล้ว เขาบอกแท็กซี่ใช้ได้ เขาไม่ได้ต้องการรถออกแบบพิเศษ ขอแค่มีอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นก็เพียงพอ ตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ว่าเป็นไปได้ไหมว่าไม่ได้ต้องเข้ามาอบรม แต่อาจเป็นอบรมผ่านคลิป ออนไลน์ เพื่อจะเพิ่มผู้ให้บริการมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรายืนยันไม่อยากให้คนที่ไม่ผ่านการอบรมเข้ามาอยู่ในการบริการนี้อย่างแน่นอน”

สุวดีเสริมว่า สำหรับการบริการนี้ไม่ได้ช่วยแค่คนพิการเดินทางได้สะดวก แต่ยังเน้นส่งเสริมผู้พิการสามารถหารายได้เพิ่มเติมบนแพลทฟอร์มนี้

“เช่นผู้พิการหูหนวก เรามองว่าเขายังมีศักยภาพ เพราะเขามีทักษะประสาทสัมผัสที่ดีกว่า เราจะเพิ่มอุปกรณ์ช่วยผู้ให้บริการกลุ่มนี้”

ซึ่งนอกจากแกรบแล้วปัจจุบันมีผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่มีฟังก์ชัน สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ อาทิ THAIDEE APPLICATION เป็นต้น

ด้านภรณีเสริมท้ายว่า ล่าสุด เพื่อให้ทักษะความรู้ได้กระจายถึงแท็กซี่รายอื่นๆ มากขึ้น ยังมีการเตรียมเสนอผลักดันให้หลักสูตรการอบรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการอบรมผู้ขับแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบกด้วย รวมถึงการอบรมแท็กซี่ของหน่วยงาน และภาคเอกชนที่ให้บริการ ก็จะเสนอให้มีเนื้อหาส่วนนี้ในการอบรมด้วย

อย่างไรก็ดี สสส.ไม่ได้มองว่าการอบรมเพียงทางเดียว จะช่วยให้บริการนี้ครอบคลุมไปยังผู้ขับรถบริการทั่วประเทศได้ จึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านกฎหมายที่จะยกระดับให้ดีขึ้น และการประสานเพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคม แรงจูงใจเจ้าของกิจการหรือทุกคนให้มีส่วนร่วม

“ เรากำลังพยายามดูอยู่ว่า ต่อไปเวลาสอบใบขับขี่ ต่อทะเบียนรถ ถ้าเขามีความสามารถมากกว่าคนอื่น มีใจมากกว่าคนอื่น ควรจะเอื้อให้เขาดำรงอยู่ได้หรือไม่” ภรณี กล่าว ซึ่งนอกจากนี้ ยังเสนอแนะว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่ปัจจุบันมีประมาณ 6 รายใหญ่ๆ ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ควรเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับคนพิการสามารถเรียกแท็กซี่ที่ผ่านการอบรม หรือสามารถให้บริการคนพิการ ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมเพิ่มเติมขึ้นด้วย