หนุ่มสาวอินเดียเรียนจบสูง เสี่ยงตกงานมากกว่าคนเรียนไม่จบ เพราะมีงานรองรับไม่พอ

หนุ่มสาวอินเดียเรียนจบสูง เสี่ยงตกงานมากกว่าคนเรียนไม่จบ เพราะมีงานรองรับไม่พอ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เตือน คนอินเดียรุ่นใหม่ที่เรียนจบสูง เสี่ยงตกงานมากกว่าคนที่เรียนไม่จบ เพราะตลาดงานที่งานรองรับคนกลุ่มนี้ไม่พอ อาจฉุดโอกาสทางเศรษฐกิจของอินเดียในอนาคตได้

ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า คนอินเดียรุ่นใหม่ที่เรียนจบสูงมีแนวโน้มตกงานมากกว่าคนวัยเดียวกันที่เรียนไม่จบ

รายงานของไอแอลโอที่เปิดเผยตัวเลขตลาดแรงงานอินเดีย พบว่า อัตราการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่อยู่ที่ 29.1% สูงกว่าอัตราการว่างงานของคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 9 เท่า โดยคนกลุ่มนี้มีอัตราการว่างงานเพียง 3.4% ขณะที่อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบระดับมัธยมหรือการศึกษาระดับสูงกว่านั้น อยู่ระดับ 1 8.4% ซึ่งมากกว่าคนเรียนไม่จบ 6 เท่า

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงความไม่สมดุลระหว่างแรงงานที่มีทักษะ และงานที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งสอดคล้องกับคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนอย่าง “รากุราม ราจัน” อดีตผู้ว่าธนาคารกลางอินเดีย ที่เตือนว่า ระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ของอินเดียจะฉุดโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต

“อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในอินเดียสูงกว่าระดับการว่างงานของโลกไปแล้ว ... เศรษฐกิจอินเดียยังไม่สามารถสร้างงานนอกภาคเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อแรงงานเด็กจบใหม่ได้ ซึ่งสะท้อน.ให้เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่สูงและเพิ่มขึ้น” ไอแอลโอ ระบุ

ส่วนอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 16-24 ปีในจีน ทะยานสู่ระดับ 15.3% ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าจำนวนประชากรในเมือง 3 เท่า

ขณะที่สัดส่วนคนรุ่นใหม่อินเดียอายุ 15-29 ปีที่ว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 82.9% ในปี 2565 จากระดับ 88.6% ในปี 2543 ซึ่งในช่วงนั้นสัดส่วนบัณฑิตจบใหม่เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 54.2% เป็น 65.7%

 

รายงานระบุอีกว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยผู้หญิงจบใหม่ที่ว่างงานคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 76.7% ของจำนวนคนรุ่นใหม่ที่ว่างงานทั้งหมด ขณะที่ผู้ชายจบใหม่มีสัดส่วนว่างงานอยู่ที่ 62.2% และอัตราการว่างงานในเมืองสูงกว่าชนบท

ไอแอลโอ เผยว่า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงต่ำสุดในโลก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 25% แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังมีการจ้างงานยังชีพ (subsistence employment) เพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ รายงานไอแอลโอยังได้เตือนเกี่ยวกับการจ้างงานแบบชั่วคราว และการจ้างงานรายได้ต่ำที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น งานขับรถส่งอาหาร ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลก็สร้างความท้าทาย เพราะทำให้อาชีพพนักงานทั่วไปกับผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนด์แทบไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงสร้างความท้าทายต่อความกินดีอยู่ดี และสภาพการทำงานของแรงงาน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์