77 ปี สานสัมพันธ์ไทย – อินเดีย จากพันธมิตรเอเชียใต้สู่อาเซียน | World Wide View

77 ปี สานสัมพันธ์ไทย – อินเดีย จากพันธมิตรเอเชียใต้สู่อาเซียน | World Wide View

ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอด 77 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ตอกย้ำความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่จะดำเนินต่อไปมากขึ้น

หากกล่าวถึงประเทศขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในขณะนี้คงหนีไม่พ้นอินเดียซึ่งในปีนี้เศรษฐกิจของอินเดียขยับเป็นขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหรือมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กว่า 59 บริษัท มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกส่วนในแง่จำนวนประชากรมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนแซงหน้าจีนเมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นประชากรที่มีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเป็นดาวจรัสแสงท่ามกลางเศรษฐกิจของโลกที่ค่อนข้างมืดมิดจากการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้น

คำถามคือ แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเติบโตดังกล่าวของอินเดีย

หากมองในแง่ความสัมพันธ์ ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2490 โดยเป็น 1 ใน 9 ประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างเป็นทางการตลอดระยะเวลา 77 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นมิตร ไม่มีปมความขัดแย้งระหว่างกัน

ไทยและอินเดียต่างตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาและสานต่อความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างกัน ทำให้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 10 ที่กรุงนิวเดลี โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกัน โดยเป็นการพบกันครั้งแรกของรัฐมนตรีทั้งสอง

ที่ประชุมนี้เป็นเวทีสำคัญหนึ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและแสวงหาความร่วมเพิ่มขึ้น ต่อยอดจากสิ่งที่ดำเนินร่วมกันมา โดยอินเดียดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East) ควบคู่ไปกับนโยบายรุกตะวันออก (Act East) ภายใต้บริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปซึ่งอินเดียมองอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางของอินโด-แปซิฟิก และเล็งเห็นว่าไทยเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสูงในภูมิภาค ขณะที่ไทยมองอินเดียเป็นมิตรประเทศและเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม

แม้ขณะนี้อินเดียจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วก็ตาม แต่ที่ประชุมก็ได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว โดยยืนยันที่จะขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าและกำหนดรูปแบบความร่วมมือใหม่ที่จะส่งเสริมและผลักดันมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ทั้งสองฝ่ายก็ยังเห็นพ้องที่จะสร้างความร่วมมือใหม่ ๆอาทิ การจัดตั้งกรอบการเจรจาระหว่างกระทรวงกลาโหม การพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านไซเบอร์ อวกาศ และอุตสาหกรรมการทหาร โดยฝ่ายไทยยังเชิญชวนให้นักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ และเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ขณะที่ฝ่ายอินเดียประสงค์ที่จะให้ไทยลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังได้คุยกันเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการที่อินเดียมีประชากรขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และไทยได้ยกเว้นวีซ่าให้แก่คนอินเดียเป็นการชั่วคราว อินเดียจึงเป็นตลาดด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ซึ่งในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยกว่า 1.6 ล้านคน และตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือนมีนาคม 2567 ก็มีนักท่องเที่ยวอินเดียกว่า 3.7 แสนคน เป็นนักท่องเที่ยว Top 5 ของไทย

ทั้งสองฝ่ายยังแสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคและเวทีโลกร่วมกันเช่น การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วิสัยทัศน์ของกลุ่ม BRICS ที่อินเดียเป็นสมาชิก การส่งเสริมบิมสเทค (BIMSTEC) ให้เป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยเป็นประธานบิมสเทคและมีเลขาธิการบิมสเทคเป็นชาวอินเดีย บทบาทของอาเซียนในอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการร่วมกันมีบทบาทคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดทั้งไทยและอินเดีย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า พื้นฐานร่วมและความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศมีระหว่างกันนั้น เป็นรากฐานสำคัญให้ไทยและอินเดียสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจ และจุดเด่นของแต่ละประเทศที่มีในภูมิภาคมาเกื้อกูลกัน เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และเมื่อไทยและอินเดียเติบโตขึ้น เป็นแสงสว่างจากดาวสองดวง แสงดังกล่าวก็จะส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียนเข้มแข็งและสว่างขึ้นด้วยเช่นกัน